posttoday

รัฐลุยเปิดเวทีชี้แจงซีพีทีพีพี

05 กันยายน 2561

เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคเหนือ

โพสต์ทูเดย์ - "พาณิชย์" เปิดเวทีภาคเหนือรับฟังความคิดเห็นเข้าร่วมความตกลงซีพีทีพีพี เร่งจัดอีก 3 ครั้งเดือน ก.ย. ที่สงขลา กรุงเทพฯ ขอนแก่น

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนของภาคเหนือ ทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม เป็นไปตามแผนที่กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนมาร่วมนำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลงซีพีทีพีพี และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ประเด็นสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งมีมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับ โดยในภาพบวกเห็นว่าซีพีทีพีพีจะช่วยขยายโอกาสการค้าการลงทุนของไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้นทุนภาคธุรกิจลดลง ผลักดันและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนามูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และไทยอาจจะต้องแก้ไขกฎหมายบางเรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมมีแผนจะจัดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับซีพีทีพีพี เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้มีกำหนดจะจัดอีก 3 ครั้ง ที่ จ.สงขลา วันที่ 13 ก.ย. กรุงเทพฯ วันที่ 19 ก.ย. และ จ.ขอนแก่น วันที่ 26 ก.ย.นี้ โดยประชาชนหรือผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นหรือศึกษารายละเอียดสาระสำคัญผ่านเว็บไซต์กรมที่ www.dtn.go.th ได้ด้วย

สำหรับซีพีทีพีพีเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม คาดว่าจะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นถึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่