posttoday

ดันค้าแม่สอดแสนล้าน

04 กันยายน 2561

สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งใหม่จะทำให้การค้าชายแดนแม่สอดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 1 แสนล้านบาทต่อปี

แม่สอดตั้งเป้ามูลค่าการค้าทะลุแสนล้านภายในปี 2562 ปั้นแม่สอดฮับการค้า WEC เร่งลงทุนทรัคเทอร์มินัลรับเส้นทางการค้ามหาสมุทรอินเดีย

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รอง ผวจ.ตาก เปิดเผยว่า ภายหลังก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ช่วงต้นปี 2562 คาดว่าจะทำให้ยอดมูลค่าการค้าชายแดนแม่สอด จ.ตาก เพิ่มขึ้น 42% จากเดิม 7 หมื่นล้านบาท/ปี เป็น 1 แสนล้านบาท/ปี เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นรูทขนส่งสินค้าหลักเชื่อมมหาสมุทรอินเดียผ่านเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง-อินเดีย เพราะจากแม่สอดไปย่างกุ้งมีระยะทางไม่ไกลมากจะใช้เวลาเดินทางในการขนส่งไม่นานมาก ทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 รถบรรทุกจะข้ามสะพานลำบาก ทำให้ใช้เวลาขนส่งนาน ปัจจุบันขนส่งสินค้ามีสินค้า 2 ประเภท คือผ่านแดนและชายแดน เนื่องจากประชาชนเมียนมานิยมสินค้าไทยมาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ประจำครัวเรือน เครื่องดื่มชูกำลัง โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือทางการเกษตร

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุน โครงการจุดพักรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Truck terminal) เพราะแม่สอดมีความพร้อมเป็นฮับโลจิสติกส์ของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก (WEC) ซึ่งจะมีตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และลำปาง เบื้องต้นกลุ่ม 5 จังหวัดได้หารือกันแล้ว และมีการศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว เพราะตอนนี้อินเดียต้องการขนส่งมาที่ภาคตะวันตก ดังนั้นทางจังหวัดจึงเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร่งรัดแผนก่อสร้างเริ่มต้นในปี 2563 เนื่องจากหากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และเปิดใช้ด่านศุลกากรแล้วจะทำให้มีการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเพิ่มมากขึ้น

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แม่สอดถือเป็นด่านชายแดนใหญ่ที่สุดของไทย และเมื่อดูตามลักษณะภูมิศาสตร์แล้วเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีจุดเชื่อมโยง (คอนเน็กชั่น) ที่แข็งแรง เพราะสามารถเชื่อมไปได้ทั้งจีนตอนใต้และอินเดีย โดยเชื่อมจากด่านแม่สอดเข้าเมียวดี ผ่านด่านตาบูสู่เมืองมอเล่ รัฐมณีปุระของอินเดีย หรือเชื่อมจากแม่สอดเข้าเมียวดี ผ่านด่านรุ่ยลีเข้าจีนตอนใต้

“เส้นทางเชื่อมจากแม่สอดเข้าไปยังอินเดียนั้น เป็นรูททางหลวงไตรภาคีของ 3 ประเทศ คือ ไทย-เมียนมาและอินเดีย แต่เส้นทางดังกล่าวยังติดปัญหาเรื่องรถบรรทุกขนส่งยังข้ามแดนระหว่างกันไม่ได้ ซึ่งอยู่ในข้อตกลงการขนส่งข้ามแดนภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีอ็มเอส) ซึ่งต้องเร่งแก้ปลดล็อกนี้ให้ได้ก่อน” นายอดุลย์ กล่าว