posttoday

เจาะแหล่งก๊าซมาเลย์

28 สิงหาคม 2561

ปตท.สผ.เตรียมนำเทคโนโลยี ขุดเจาะสำรวจใหม่เข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซหลุมเล็กในมาเลเซีย ช่วยลดต้นทุน

ปตท.สผ.เตรียมนำเทคโนโลยี ขุดเจาะสำรวจใหม่เข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซหลุมเล็กในมาเลเซีย ช่วยลดต้นทุน

นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) กล่าวว่า ปตท.สผ.ได้หารือกับปิโตรนาส เพื่อร่วมกันเข้าไปสำรวจขุดเจาะและพัฒนา แหล่งก๊าซธรรมชาติ กระเปาะเล็กๆ ในพื้นที่ ทางทะเลของประเทศมาเลเซียที่มีลักษณะพื้นที่คล้ายกับแหล่งก๊าซ ในอ่าวไทย ของไทย

"เดิมมาเลเซียพัฒนาแต่แหล่งก๊าซหลุมใหญ่ๆ เท่านั้น ยังไม่เคยพิจารณาสำรวจแหล่งก๊าซหลุมเล็กๆ ที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่า จะมีปริมาณก๊าซใกล้เคียงกับแหล่งบงกชและเอราวัณของไทย ขณะนี้กำลังศึกษาว่า มีแหล่งก๊าซที่เป็นกระเปาะแบบนี้มากน้อยแค่ไหน มองไว้ 2-3 แหล่ง ส่วนจะได้พัฒนาหรือไม่ คงต้องรอรัฐบาลมาเลเซียเปิดสัมปทาน" นายพงศธร กล่าว

สำหรับแหล่งก๊าซในประเทศเพื่อนบ้าน ในปีนี้ ปตท.สผ.จะเน้นเก็บงานเก่าในแปลงสำรวจเดิมที่ได้รับสัมปทาน เช่น แหล่งสำรวจเก่าในเมียนมา 3 แปลง โดยกำลังพยายามเร่งกิจกรรมการผลิต เพื่อให้เดินหน้าธุรกิจผลิตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีการจำหน่ายประมาณ 3.1 แสนบาร์เรล/วัน

นายพงศธร กล่าวว่า ทิศทางของบริษัท หลังจากนี้ จะลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นหลักและเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 70% เพราะมองว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรภาพมากที่สุดด้านราคา เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายและยังเป็นพลังงานสะอาดที่ดี ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าลด ต้นทุนผลิตต่อหน่วยให้ต่ำที่สุดจากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหนึ่งในแนวทางคือนำเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญของพนักงานมาใช้ในปรับปรุงกระบวนการสำรวจและผลิต เพื่อทำให้ต้นทุนลดได้อย่างน้อย 10%

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ประชุมและนิทรรศการ "IADC/SPE Asia Pacific Drilling Technology" หรือ APDT ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด "Reshaping for a Smart and Sustainable Future" เพื่อรองรับความ ท้าทายเกี่ยวกับความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเป็นผลมา จากเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ส่งผลให้ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้อง ปรับตัว เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิ ภาพการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จาก 30 ประเทศ

"เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยนี้ จะช่วยทำให้ต้นทุนการสำรวจขุดเจาะ ปิโตรเลียมถูกลง เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคา ที่เหมาะสม รวมทั้งยังช่วยทำให้คนไทยมี ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงและยังมีประโยชน์ในการ เพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย" นายพงศธร กล่าว