posttoday

อาเซียนจับตาเหล็กจีน

20 กรกฎาคม 2561

อาเซียนหารือจีนดูแลไม่ให้เหล็กทะลักเข้าภูมิภาค หวั่นโดนสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า

อาเซียนหารือจีนดูแลไม่ให้เหล็กทะลักเข้าภูมิภาค หวั่นโดนสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2561 เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนได้พบหารือกับจีน ในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ โดยประเด็นสำคัญที่ได้หารือ คือ อาเซียนได้ย้ำข้อเสนอของสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียนที่ขอให้จีนช่วยดูแลไม่ให้เกิดการทะลักของเหล็กและผลิตภัณฑ์จากจีนสู่อาเซียน โดยขอให้รัฐบาลจีนคงมาตรการยกเลิกการคืนภาษีส่งออกให้กับผู้ส่งออกเหล็ก

นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนจีนเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอาเซียน เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่ผู้ผลิตในอาเซียน รวมถึงส่งเสริมให้ใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์ของสมาชิกอาเซียนในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (วันเบลต์วันโรด) ของจีนในอาเซียนด้วย

ด้าน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ค.นี้ จะเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เพื่อพบปะและหารือกับผู้แทนระดับสูงของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนระหว่างกันในสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าโลกในปัจจุบัน รวมถึงมุ่งเจรจาลดอุปสรรคและมาตรการทางการค้าของสหรัฐด้วย

ทั้งนี้ มีกำหนดจะพบกับรองผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) รมช.พาณิชย์สหรัฐ และที่ปรึกษาอาวุโสของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยประเด็นสำคัญที่จะหารือคือ แนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน และการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐใช้มาตรา 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก รวมถึงไทย และอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นภาษี ยานยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากทั่วโลกภายใต้มาตรา 232 เช่นกัน เพราะมองว่าสินค้านำเข้าเหล่านี้เป็นภัยคุกคาม และเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐ

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐไม่ยกเว้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมรายประเทศให้กับไทย เพราะสหรัฐกังวลว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่างจีน จะส่งออกเหล็กมาไทยแล้วแอบอ้างว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากไทย แล้วส่งออกต่อไปยังสหรัฐ (สวมสิทธิ) เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีที่สูงขึ้น แม้ไทยให้ความร่วมมือกับศุลกากรสหรัฐในการตรวจสอบเหล็กที่นำเข้ามาอย่างเข้มงวด และตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงประเทศต้นทาง