posttoday

เชื่อมถนน'จีเอ็มเอส'ของบเอดีบี3,000ล้าน สร้างโครงข่ายคมนาคมประเทศเพื่อนบ้าน

05 กรกฎาคม 2561

เอดีบีอัดฉีด 3,000 ล้าน ลุยขยายทางหลวงเชื่อมจีเอ็มเอส รับการค้าอาเซียน เล็งตอกเสาเข็มต้นปี 2562

เอดีบีอัดฉีด 3,000 ล้าน ลุยขยายทางหลวงเชื่อมจีเอ็มเอส รับการค้าอาเซียน เล็งตอกเสาเข็มต้นปี 2562

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมีแผนลงทุนขยายทางหลวงหมายเลข 22 ช่วง อ.หนองหาน-อ.พังโคน ช่วงสกลนครนครพนม และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด-ยโสธร ให้เป็น 4 ช่องจราจร โดยมีวงเงินทั้งสิ้น 6,808 ล้านบาท เพื่อวางโครงข่ายของถนนเชื่อมต่อประเทศ เพื่อนบ้านอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ซึ่งพาดผ่านกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) โดยได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าว 50% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด หรือราว 3,404 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนประกวดราคาและได้ตัวบริษัทเอกชนแล้วทั้งหมด 6 สัญญา หลังจากนี้จะเร่งเสนอโครงการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบภายใน 60 วัน คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ภายในช่วงต้นปี 2562 ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาที่ 30 เดือน แล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานปี 2565
         
สำหรับทางหลวงหมายเลข 22 ตอน อ.หนองหาน-อ.พังโคน และตอนสกลนคร-นครพนม เป็นการก่อสร้างขยายจากทาง 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข 15 (AH15) ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ข้ามแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม เชื่อมต่อไปยังเมืองท่าแขก สปป.ลาว และเมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้

นอกจากนี้ เส้นทางโครงข่าย เลยอุดรธานี-สกลนคร-นครพนม ยังเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนนครพนมและพื้นที่ด่านชายแดนหนองคายเข้าด้วยกัน และเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมและเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย)

ขณะที่โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 23 ตอน ร้อยเอ็ด-ยโสธร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโครงข่าย นครสวรรค์-ชัยภูมิ-อ.บ้านไผ่มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-อุบลราชธานีช่องเม็ก เชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และเชื่อมต่อเข้าสู่โครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ที่ อ.แก้งคร้อ เพื่อเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีความสำคัญช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากตอนใต้ของ สปป.ลาว ผ่านไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกทางหนึ่ง