posttoday

อาเซียนแห่ใช้เอฟทีเอยอดส่งออก4เดือนรวม2.1หมื่นล้านดอลล์สินค้าไปจีนเพิ่มสูงสุด

19 มิถุนายน 2561

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ ส่งออก 4 เดือนแรกปี 2561 มีมูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 20.33% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด

พาณิชย์เผยยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ ส่งออก 4 เดือนแรกปี 2561 มีมูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 20.33% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ และการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) ว่าไทยมีการส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่เจรจาเอฟทีเอ มูลค่า 45,695.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 40,516.34 ล้านดอลลาร์ และเป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ มูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.33% คิดเป็นสัดส่วน 73.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิภายใต้เอฟทีเอ ที่มีมูลค่าถึง 29,709.89 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ กรอบความตกลงเอฟทีเอที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน 8,090.63 ล้านดอลลาร์ อาเซียนจีน 5,364.90 ล้านดอลลาร์ ไทยออสเตรเลีย 3,006.44 ล้านดอลลาร์ ไทย-ญี่ปุ่น 2,285.44 ล้านดอลลาร์ และอาเซียน-อินเดีย 1,156.08 ล้านดอลลาร์ และประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงที่สุด 5 ประเทศ คิดตามสัดส่วนการใช้สิทธิ ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย เปรู ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

"การส่งออกโดยใช้สิทธิเอฟทีเอไปจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่ วันที่1 ม.ค. 2561 จีนมีการลดภาษีภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีนเพิ่มเติม มีสินค้า ที่มีศักยภาพของไทยคือ กระปุกเกียร์และส่วนประกอบ ที่เดิมเป็นสินค้าอ่อนไหวของจีน ได้มีการลดภาษีลงจาก 10% เหลือ 5% ทำให้ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัวเลย" นายอดุลย์ กล่าว

สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่ให้จีเอสพีกับไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 มีมูลค่ารวม 18,632.75 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 16,461.16 ล้านดอลลาร์ และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพี มูลค่า 1,470.95 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.13% คิดเป็นสัดส่วน 55.38% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพีทั้งหมด โดยสหรัฐเป็นประเทศที่ไทยใช้สิทธิจีเอสพีสูงสุด มีมูลค่า 1,368.92 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.12% คิดเป็นสัดส่วน 93% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีรวมทุกระบบ รองลงมาคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 53 ล้านดอลลาร์ สวิตเซอร์แลนด์ 41 ล้านดอลลาร์ นอร์เวย์ 4 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 4 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม พบว่าการใช้สิทธิ จีเอสพีไปสหรัฐ ในกลุ่มของสินค้าเครื่องใช้เดินทาง และเม็ดพลาสติกเซลลูโลส ไนเตรตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากที่สหรัฐได้ให้สิทธิจีเอสพีไทยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2560 โดยสินค้าเซลลูโลสไนเตรต มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5.76% ส่วนสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทางที่มีการใช้สิทธิ จีเอสพีสูง ได้แก่ กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนัง กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนังอัด กระเป๋ากีฬา กระเป๋าถือทำจากหนังเคลือบเงา  เป็นต้น