posttoday

‘Deva Farm & Cafe’ ต่อยอดจากฟาร์มฮอปส์

02 มิถุนายน 2561

ถือเป็นฟาร์มฮอปส์แห่งแรกของไทย สำหรับ Deva Farm & Cafe ตั้งอยู่ใน จ.นนทบุรี ที่สามารถพัฒนาการปลูกฮอปส์

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

ถือเป็นฟาร์มฮอปส์แห่งแรกของไทย สำหรับ Deva Farm & Cafe ตั้งอยู่ใน จ.นนทบุรี ที่สามารถพัฒนาการปลูกฮอปส์ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่เมืองหนาวเท่านั้น แต่สามารถปลูกในพื้นที่ประเทศไทยได้สำเร็จ จากไอเดียคนรุ่นใหม่ ที่เชื่อมั่นว่าสามารถสร้างสรรค์การทำฟาร์มได้อย่างไม่เหมือนใคร ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง “ณัฐชัย” และ “ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์”

“ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง “Deva Farm & Cafe” ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกและรายเดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ทำตลาดแบรนด์ เบียร์ เทพพนม เปิดเผยว่า การเริ่มต้นสร้างฟาร์มฮอปส์ (Hops) มาจากการที่ได้ทดลองการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ภายในโรงเรือน และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการดูแลฟาร์มทั้งหมด ต่อมาได้สนใจที่จะทำฟาร์มอย่างจริงจัง จึงต้องการต่อยอดสู่การปลูกฮอปส์ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน และได้สนใจศึกษาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม

การเริ่มปลูกฮอปส์ช่วง 3 ปีก่อน ในระยะแรกจะมีจำนวนประมาณ 4-5 ต้น เพื่อได้ศึกษาข้อมูล ต่อมาได้ขยายการปลูกเพิ่มขึ้นสู่ 400-500 ต้น และมีโรงเรือนจำนวน 5 โรงเรือน โดยการปลูกฮอปส์ ถือเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย ที่มีใบและมีดอก ถือว่ามีอายุยืนยาวเหมือนองุ่น คือมีอายุ 20-30 ปี และในปีแรกที่ได้ปลูก สามารถให้ผลผลิตออกมาได้สำเร็จ

“ผมได้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นต่อเนื่องมา 14 ปี และเมื่อถึงเวลา จึงอยากเปลี่ยนมาทำฟาร์มอย่างจริงจัง ประกอบกับมีความชอบในเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อมาทำฟาร์มจึงได้พัฒนา ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการดูแล ควบคุมฟาร์มทั้งหมด เพื่อทำให้การดูแลฟาร์มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ณัฐชัย กล่าว

ทั้งนี้ ฮอปส์ เป็นพืชที่จะต้องดูแลบริหารจัดการที่มีความพิเศษกว่าพืชชนิดอื่นๆ ทำให้ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี จะต้องมีการศึกษาข้อมูลและพัฒนาเรียนรู้ต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ฟาร์ม ได้มุ่งพัฒนาจึงส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้น และสามารถได้วัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีการขยายสู่การทำแบรนด์ คราฟท์เบียร์ใช้ชื่อว่า “เทพพนม” และทำตลาดอย่างเป็นทางการแล้ว

กลุ่มลูกค้าที่รู้จักฟาร์มจะมาจากช่องทางออนไลน์ https://th-th.facebook.com/ DevaFarmCafe และได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ที่ช่วยโปรโมทแบรนด์ รวมถึงฟาร์มมีการขยายสู่เปิดเป็นร้านอาหารที่เป็นคาเฟ่ ที่จะให้บริการในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

“ณัฐชัย” กล่าวต่อว่า ได้พัฒนาฟาร์มสู่ระบบสมาร์ทฟาร์ม ทั้งการดูแลและควบคุมระบบการให้น้ำ การดูแลอูณหภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป และควบคุมระบบให้ปุ๋ยภายในฟาร์ม รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลฟาร์มอย่างครบวงจร เพื่อนำไปประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับวางแผนฟาร์ม ส่งผลให้ฟาร์มสามารถดูแลจัดการโดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงาน

“ฟาร์มฮอปส์มีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายด้าน ทั้งอุณหภูมิของไทยที่ร้อน กระทบต่อทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงปัญหาเรื่องไฟ การดูแลผลผลิต และตัวแปรต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีความตั้งใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอด” ณัฐชัย กล่าว

ปัจจุบันฟาร์มกำลังขยายสู่การปลูกฟาร์ม ผลไม้เมืองหนาวชนิดอื่นๆ ทั้งบลูเบอร์รี่ ราสพ์เบอร์รี่ และสตรอเบอร์รี่ ที่ได้ทดลองปลูกมาประมาณ 1 ปีแล้ว และมีการพัฒนาเครื่องมือในการดูแลจัดฟาร์มผลไม้เมืองหนาว คาดว่าจะมีการพัฒนาสู่การทำเครื่องดื่มใหม่ในอนาคต

“การทำฟาร์มที่เราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะต้องมีการเรียนรู้ ศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีความใส่ใจและมีความรักในการทำ พร้อมกับพลังในการทุ่มเทอย่างไม่หยุด” ณัฐชัย กล่าวทิ้งท้าย