posttoday

ค้าออนไลน์ดันอี-คอมเมิร์ซไทยรุ่ง

24 พฤษภาคม 2561

การขยายตัวของเทคโนโลยีทำให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยเติบโตตามไปด้วย

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การขยายตัวของเทคโนโลยีทำให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยเติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะการค้าขายรูปแบบธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ (นีโอ) ให้ข้อมูลว่าประมาณการมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยในปี 2560 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.81 ล้านล้านบาท โดยเป็นประเภทธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) 1.67 ล้านล้านบาท และประเภทธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) 8.12 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจากภาครัฐ และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มีการใช้เฉลี่ยในวันธรรมดาประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาที/วัน และช่วงวันหยุดประมาณ 6 ชั่วโมง 48 นาที/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่เฉลี่ยอยู่ 6 ชั่วโมง 24 นาที

เหตุนี้นีโอจึงเล็งเห็นโอกาสและจัดงาน e-Biz Expo Asia 2018 ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีกลางระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีและคนทั่วไปที่กำลังมองหาเครื่องมือมาตอบโจทย์ในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล

“งานนี้จะเป็นเวทีที่รวมไอเดียใหม่ๆ และความรู้ไปต่อยอดธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) เช่น เรื่องตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) การหาช่องทางทำการค้าบนโลกออนไลน์ การชำระเงินแบบสังคมไร้เงินสด(อี-เพย์เมนต์) ที่ทำให้การทำธุรกิจคล่องตัวขึ้น รวมทั้งการขนส่งแบบเรียลไทม์ ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้แข่งขันได้บนโลกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ” ศักดิ์ชัย กล่าว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อี-คอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีลักษณะการเติบโตคล้ายกับประเทศจีนมาก จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่า อี-คอมเมิร์ซของไทยและอาเซียนจะมีการเติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากการขาดแคลนหน้าร้านออฟไลน์ (ห้างสรรพสินค้า) ในพื้นที่ต่างจังหวัด การมีบริการเก็บเงินปลายทางและการมีบริการธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

ค้าออนไลน์ดันอี-คอมเมิร์ซไทยรุ่ง ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล

นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ต่างๆ ล้วนมีผลต่อการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซ นั่นเพราะทำให้ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถตกลงซื้อขายสินค้ากันเองได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และยังสามารถทำการซื้อขายกันได้ทุกที ทุกเวลา

สอดคล้องกับ ศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยสภาอุตฯ ได้รวมผู้ประกอบกิจการรับจ้างผลิตสินค้า (โออีเอ็ม) ชั้นนำกว่า 120 ราย จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่นิยม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารเสริม เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าและเครื่องหนัง บรรจุภัณฑ์และแพ็กเกจจิ้ง มารวมไว้ในงานด้วย เพื่อให้นักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจด้วยตัวเองได้พบปะกับผู้รับจ้างผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน

“เป้าหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง และพร้อมเข้าสู่การแข่ง ขันในระดับอาเซียนและระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสของทุกธุรกิจสู่ธุรกิจดิจิทัล” ศักดิ์ณรงค์ กล่าว

เมื่อมีแรงหนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่รวยที่สุดในอาเซียน แต่ก็เป็นศูนย์กลางของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่คึกคักและเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้