posttoday

'บิ๊กตู่'ใช้เวทีจีเอ็มเอสดันลงทุนอีอีซี

28 มีนาคม 2561

นายกฯ เตรียมบินร่วมประชุมผู้นำ 6 ประเทศจีเอ็มเอส 29-31 มี.ค. ย้ำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้าน

นายกฯ เตรียมบินร่วมประชุมผู้นำ 6 ประเทศจีเอ็มเอส 29-31 มี.ค. ย้ำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้าน

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความ ร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่ม แม่น้ำโขง 6 ประเทศ (จีเอ็มเอส) ครั้งที่ 6 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ชาติสมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และจีน จะมีการรับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 ร่างแผนปฏิบัติการฮานอย ปี 2561-2565 และกรอบการลงทุนในภูมิภาคปี 2565 (Regional Investment Framework : RIF2022)

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า กรอบการลงทุน RIF2022 ที่ชาติสมาชิกจะมีการรับรองร่วมกันนั้น ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 227 โครงการ ในสาขาความร่วมมือ 10 สาขา มูลค่าลงทุนรวม 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.088 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยโครงการลงทุน 143 โครงการ มูลค่า 6.63 หมื่นล้านดอลลาร์ และโครงการช่วยเหลือทางวิชาการ 84 โครงการ มูลค่า 292 ล้านดอลลาร์ โดยแผนงานด้านคมนาคมยังคงเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนภายใต้กรอบดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยเอง ประกอบด้วยโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ 79 โครงการ มูลค่า 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16.27% ของโครงการลงทุนทั้งหมดภายใต้กรอบดังกล่าว โดยแผนงานที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 สาขา ได้แก่ สาขาคมนาคม มูลค่า 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้แก่ โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สาขาท่องเที่ยว 174 ล้านดอลลาร์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวและการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สาขาพลังงาน 91 ล้านดอลลาร์ ดำเนินความร่วมมือกับ สปป.ลาว เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศที่สาม

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจะเสนอการสนับสนุนดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานของจีเอ็มเอส 6 ประเด็น ได้แก่ 1.กรอบการลงทุน RIF2022 2.โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เน้นการเชื่อมโยงโครงสร้างตามแนวระเบียงจีเอ็มเอส 3.นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 4.การซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคจีเอ็มเอส 5.การส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชนในภูมิภาค และ 6.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ