posttoday

โอกาสทางเศรษฐกิจ รถไฟจีน-ลาว-ไทย

10 มีนาคม 2561

จากแนวคิดการเชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาค ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดนโยบายพัฒนาการขนส่งระบบรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคและประเทศนอกภูมิภาค อย่างจีนเข้าด้วยกัน

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

จากแนวคิดการเชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาค ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดนโยบายพัฒนาการขนส่งระบบรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคและประเทศนอกภูมิภาค อย่างจีนเข้าด้วยกัน

โครงการเชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาคที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหลักของ 8 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา และมณฑลยูนนานของจีน หลังจากนั้นประเทศในอาเซียนก็ตื่นตัวเรื่องการเชื่อมโยงเส้นทางในภูมิภาค ประกอบกับนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง (One Belt One Road:OBOR) ของรัฐบาลจีนที่ต้องการเชื่อมโยงจีนเข้ากับทั่วโลก เพื่อขยายเส้นทางทางการค้า ส่งผลให้เกิดความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน  โดยมีทั้งแรงหนุนและข้อกังขาว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์จริงหรือไม่

จากงานวิจัย เรื่อง “รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย : ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการเชื่อมโยงในอาเซียน” โดย จันทิมา เขียวแก้ว เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวถูกตั้งคำถามว่า การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของจีน เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นหลักและเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ก็ได้มีการอธิบายจากทั้งสองรัฐบาลว่า การลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น จะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีในการสร้างรถไฟความเร็วสูงให้กับภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น ในภาพรวมการพัฒนารถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแน่ แต่ต้องกระจายการพัฒนา และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคก็ยังไม่ถูกแก้ไข และก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

การดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว พบว่ารัฐบาล สปป.ลาว ใช้กลยุทธ์ด้านการสื่อสารกับประชาชนว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในประเทศได้อย่างไร ทั้งนี้ สปป.ลาว มีนโยบาย เปลี่ยน Land Locked เป็น Land Link ดังนั้นโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเป็นหัวใจสำคัญ รัฐบาลจึงเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้วยหวังว่าจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้เศรษฐกิจลาวเติบโตอีก 32% ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ยินดีจึงทำให้การดำเนินงานราบรื่น

สำหรับเส้นทางการพัฒนาระบบรางในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนประเทศญี่ปุ่น แต่ความก้าวหน้ากลับไม่เท่าประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน เนื่องจากไทยเน้นพัฒนาเส้นทางถนนมากกว่า แม้ว่าการขนส่งสินค้าทางรถไฟต้นทุนจะต่ำกว่าเป็นเท่าตัว ทำให้ในปัจจุบันรัฐบาลหันมาให้ความสนใจการพัฒนาระบบรางมากขึ้น โดยอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นปรับปรุงระบบรถไฟทางคู่ การพัฒนารางรถไฟมาตรฐาน 1.435 เมตร ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ขณะที่การศึกษาพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบรางรถไฟความเร็วสูงของไทย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย คือ ความกว้างของระบบรางในประเทศไทยที่เป็นรางขนาด 1 เมตร ไม่ใช่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนเป็นแบบขนาดมาตรฐานทั้งสิ้น โดยหากไทยไม่สามารถเชื่อมโยงต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ทันเวลา เมื่อโครงการใน สปป.ลาวแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็นปัจจัยคุกคามระบบเครือข่ายทันที

ทว่า จากแผนความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนทั้ง 4 ช่วงที่มีความคืบหน้าไปมาก และเตรียมจะเปิดประมูลช่วงการก่อสร้างทั้งหมดภายในปี 2561 นี้ ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ใช่จุดอ่อนด้านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมในภูมิภาคแน่นอน