posttoday

'อินโดนีเซีย’ เมืองหลวง เครื่องปรุงรสอาเซียน

08 มีนาคม 2561

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 266 ล้านคน จึงทำให้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเติบโตตามไปด้วย

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ด้วยความที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 266 ล้านคน จึงทำให้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเติบโตตามไปด้วย แต่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากกว่า 90% เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ เหตุนี้ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จึงปักหมุดให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางในการจัดงานส่วนผสมอาหาร (Fi Asia 2018) โดยรวบรวมผู้ซื้อและผู้ขายส่วนผสมอาหารและเครื่องปรุงรสจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่

ทั้งนี้ ทางบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย ได้พาคณะสื่อมวลชนจากอาเซียนไปเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตส่วนผสมอาหารและเครื่องปรุงรสของอินโดนีเซีย เพื่อให้เห็นถึงเทคโนโลยีและคุณภาพในการผลิตส่วนผสมอาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ป้อนสู่ตลาดทั้งในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลกอย่างตะวันออกกลาง ยุโรป จีนและออสเตรเลีย

อีรวาน เอส วิดจายา หัวหน้าคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี สมาคมอาหารและเครื่องดื่มของอินโดนีเซีย ได้ให้ข้อมูลภาพรวมตลาดอาหารเครื่องดื่มในอินโดนีเซียว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอินโดนีเซียยังมีอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของสังคมเมืองที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียเปลี่ยนไป นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และเร่งรีบในการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้สินค้ากลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟ นมผง บิสกิต เบเกอรี่และชาพร้อมดื่มในอินโดนีเซียเติบโตสูง

สำหรับโรงงาน Foodex Inti Ingredients ผู้ผลิตผงปรุงรสและส่วนผสมอาหารรายใหญ่ของอินโดนีเซีย ตัวแทนผู้บริหารได้นำเสนอข้อมูลว่า เริ่มธุรกิจในปี 2538 โดยเริ่มจากการเป็นโรงงานผลิตผงปรุงรสเล็กๆ ก่อนจะขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีการขยายสายการผลิตไปยังกลุ่มเบเกอรี่ โดยการนำระบบไอทีเข้ามาใช้บริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในการผลิตผงปรุงรสและส่วนผสมอาหารอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีผงปรุงรสมากกว่า 100 รสที่ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม และยังมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทคโนโลยี) เข้ามาใช้ เพื่อให้ส่วนผสมอาหารและผงปรุงรสที่มีคุณค่าทางอาหาร เป็นการสร้างความต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

ขณะที่โรงงาน Sinar Sosro เป็นโรงงานผลิตชาพร้อมดื่มแบบขวดแห่งแรกในอินโดนีเซีย มีอายุกว่า 80 ปี ปัจจุบันมี 15 โรงงาน กระจายตามภูมิภาคต่างๆ และมี 7 ผลิตภัณฑ์หลัก จึงทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตรวม 82 ล้านขวด/เดือน ส่วนใหญ่ 90% ผลิตเพื่อขายในประเทศ และอีก 10% ผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างๆ เช่น เอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์

การที่อินโดนีเซียจะเป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องปรุงรสได้นั้น จำเป็นต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพ จึงทำให้อินโดนีเซียต้องมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในการตรวจสอบสินค้าที่จะวางจำหน่ายในอินโดนีเซีย โดย ไฟนี่ เซปตาริต้า ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายและบริการลูกค้า บริษัท SUCOFINDO (Persero) 1 ใน 5  ผู้ให้บริการห้องแล็บกลางของอินโดนีเซีย บอกว่า  ที่นี่เป็นแล็บกลางของรัฐบาลที่เก่าแก่ที่สุดในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีสาขาย่อยในการให้บริการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าใน 5 กลุ่ม ได้แก่ พลังงาน สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน อาหารและยา และเครื่องสำอาง รวมกว่า 44 สาขา และมีการตรวจสอบไปถึงความเสี่ยงด้านเชื้อโรคและพยาธิต่างๆ ในสินค้าเกษตรกรรมด้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาทำส่วนผสมอาหารและเครื่องปรุงรส จึงทำให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบตั้งแต่ครั้งละ 6 แสนรูเปียห์ หรือประมาณ 1,700 บาทไปจนถึง 35 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 1 แสนบาท