posttoday

รุกตลาดปั๊มแก๊สอินโด

03 มกราคม 2561

เอกชนไทยเจ๋งปั้นนวัตกรรมเอ็นจีวีรายแรกในเอเชีย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 50% เล็งเจาะตลาดเวียดนาม-อินโดนีเซีย

เอกชนไทยเจ๋งปั้นนวัตกรรมเอ็นจีวีรายแรกในเอเชีย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 50% เล็งเจาะตลาดเวียดนาม-อินโดนีเซีย

นายฤทธี กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สแกน อินเตอร์ หรือ SCN เปิดเผยว่า บริษัทเป็นรายแรกของทวีปเอเชียที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมการผลิตถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี ประเภท 4 ซึ่งตัวถังชั้นในทำด้วยวัสดุพลาสติกและชั้นนอกเป็นวัสดุคอมโพสิตที่มีเส้นใยแก้วหรือเส้นใยคาร์บอน ทำให้ถังประเภทนี้เป็นถังที่มีน้ำหนักเบาและคุณภาพสูง ดังนั้นจึงได้จับมือกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเดินหน้าทำตลาดไปทั่วโลก หลังจากได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO แล้ว

ปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศที่ผลิตได้ คือ สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี สำหรับคุณสมบัติของถังดังกล่าวนั้น เมื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก๊าซธรรมชาติจะสามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่า 50% เพราะขนาดถังที่เบากว่าทั่วไป ทำให้ขนส่งเพิ่มได้เป็น 7 ตัน/เที่ยว จากเดิมส่งได้แค่ 3 ตัน/เที่ยว โดยระยะแรกจะเริ่มจัดจำหน่ายให้เอกชนที่ทำธุรกิจเอ็นจีวีทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากนั้นจะทยอยเพิ่มกำลังผลิตเพื่อใช้ในภาคขนส่งของบริษัทตัวเองก่อนเจรจาทำสัญญาขายให้บริษัท ปตท. ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้

นายฤทธี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการเจาะตลาดอาเซียนนั้น บริษัทจะเข้าไปรับงานขนส่งก๊าซเอ็นจีวีและรับงานวางระบบสถานีเอ็นจีวีในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความชำนาญของบริษัทที่วางระบบและอุปกรณ์สถานีก๊าซเอ็นจีวีในไทยมากกว่า 50% ของสถานีทั้งหมด ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเจาะตลาดเวียดนามได้ไม่ยากนัก โดยบริษัทมีสถานีบรรจุก๊าซที่ใหญ่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว

ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียถือว่ามีอนาคตสดใสหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายส่งเสริมก๊าซการใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ และตั้งเป้าก่อสร้างสถานีก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 1,000 สถานี ภายใน 5 ปีนับจากนี้ และเพิ่มเป็น 5,000 สถานี ภายใน 20 ปี จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 สถานี เพื่อรองรับความต้องการของประชากรในประเทศที่มีเกือบ 300 ล้านคน ดังนั้นบริษัทจะเดินหน้าเข้าไปขยายตลาดการวางระบบและจำหน่ายอุปกรณ์สถานีก๊าซ

ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่วางท่อก๊าซเอ็นจีวียาก จึงทำให้ธุรกิจด้านการขนส่งก๊าซเอ็นจีวีจะเติบโตอย่างมากในอนาคต ส่งผลความต้องการใช้ถังเอ็นจีวีประเภท 4 ในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้มากเมื่อเทียบกับถังเหล็กธรรมดา

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าทำยอดขายสินค้าดังกล่าวในปี 2561 ไว้ที่ 30 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยสินค้านวัตกรรมแบบนี้ถือว่ามีกำไรสูงอยู่แล้ว