posttoday

‘รถไฟคิวชู’ รุกธุรกิจอสังหา

14 ธันวาคม 2560

รถไฟ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นที่เติบโตมาจากการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ล่าสุดได้ขยายธุรกิจมาประเทศไทย สนใจตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

บริษัท รถไฟ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นที่เติบโตมาจากการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และยังผลักดันสร้างธุรกิจรถไฟท่องเที่ยวได้อย่างโดดเด่น จนล่าสุดได้ขยายธุรกิจมาประเทศไทย และสนใจตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย

โทชิฮิโกะ อะโอยากิ ประธานบริษัท รถไฟ คิวชู (Kyushu Railway) ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายการลงทุนเข้ามาในไทย โดยจัดตั้งบริษัทในไทยชื่อว่า “Thai JR Kyushu management” เน้นธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเตรียมลงทุนในธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์พื้นที่ กทม.โดยเข้ามาลงทุนในไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน จากการเห็นโอกาสในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าเปิดตัวโครงการได้เป็นทางการเดือน ธ.ค. 2560

สำหรับในอนาคตพร้อมมองหาโอกาสที่เข้ามาร่วมมือ หรือขยายการร่วมลงทุนรถไฟของประเทศไทยเช่นกัน เพราะ กทม.กำลังลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟหลายแห่ง รวมถึงสนใจนำความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจรถไฟและการทำธุรกิจรถไฟเพื่อท่องเที่ยวเข้ามาเสริมจุดแข็งในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้ามาสำรวจตลาดในไทยหลายครั้ง

ทั้งนี้ บริษัท รถไฟ คิวชู ได้ก่อตั้งมา 30 ปีแล้ว ปัจจุบันรายได้มาจากการให้บริการเดินรถไฟ 40% ที่เหลืออีก 60% มาจากการบริการพื้นที่ให้เช่าตึกในสถานีรถไฟ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ ทั้งจัดทำศูนย์การค้า แมนชั่น คอนโดมิเนียม การทำธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจฟาร์ม ไปจนถึงโลจิสติกส์ โดยทำให้พื้นที่รอบสถานีรถไฟกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และในอนาคตจะทำให้กลายเป็นเมือง

ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถสร้างรายได้เติบโต 2 เท่า โดยในปี 2559 สร้างรายได้ประมาณ 3.82 แสนล้านเยน และบริษัทได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปีที่แล้วเช่นกัน จากในช่วงแรกที่การดำเนินธุรกิจบริษัทขาดทุนและต้องพึ่งกองทุนจากรัฐบาล แต่องค์กรมีการปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ซึ่งในอดีตรายได้จากการให้บริการรถไฟมีสัดส่วน 81% และรายได้ที่ไม่ใช่รถไฟ 19%

ทั้งนี้ การเปิดตัวรถไฟใหม่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้รายได้จากาการเดินรถเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า รวมถึงมุ่งพัฒนารถไฟเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนรู้สึกได้ว่าการขึ้นรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เพราะธุรกิจรถไฟในญี่ปุ่นจะต้องแข่งขันกับทั้งรถบัสระยะไกลและสายการบินในประเทศ

อะโอยากิ กล่าวต่อว่า การบริหารรถไฟจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนทุกครั้ง เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ รวมถึงต้องดูว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่คือด้านใด โดยในสถานีมีคนในท้องถิ่นนำเสนอสินค้าหัตถกรรมแก่นักท่องเที่ยว ทุกคนต่างต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งรถไฟคิวชูทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในเมือง ทำให้ประชาชนมีความภูมิใจในเมืองของตัวเอง ส่วนการเข้ามาในไทยจะต้องดูว่าความต้องการของประชาชนในประเทศไทยคืออะไร เพื่อให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความยั่งยืนต่อไปอีก 100-200 ปี

“กลยุทธ์หลัก 3 ด้านที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และยึดมาตลอดคือการทำธุรกิจความซื่อสัตย์สุจริตมีความจริงใจ ต่อมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำให้คนในท้องถิ่นมีความสุข ดังนั้นการมาประเทศไทยก็ต้องการทำให้คนไทยมีความสุขเช่นกัน” อะโอยากิ กล่าว