posttoday

เจาะเทรนด์ไอทีเอเชียปี’61

23 พฤศจิกายน 2560

การที่โลกเปลี่ยนจากยุคอะนาล็อกและก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น นำมาซึ่งการบริการรูปแบบใหม่ๆ หรือที่เรียกว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การที่โลกเปลี่ยนจากยุคอะนาล็อกและก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบนั้น นำมาซึ่งการบริการรูปแบบใหม่ๆ หรือที่เรียกว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ทำให้เห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไอซีทีของแต่ละประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของเอเชีย อย่างอินเดีย จีน และญี่ปุ่น

ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ประธานบริษัท OPTIMUS Thailand  ให้ข้อมูลว่าทั้งอินเดีย จีน และญี่ปุ่นล้วนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีในเอเชีย และทั้ง 3 ประเทศนี้ก็มีการวางยุทธศาสตร์ด้านไอซีทีของประเทศตัวเองที่ชัดเจน

เริ่มจากอินเดียที่เดินกลยุทธ์ด้านไอทีใน 2 มิติ คือ ไอทีเซอร์วิส หรือ การเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ และการเป็นผู้รับจ้างทำหน้าที่ในกระบวนการธุรกิจแทนคนอื่น (Business Process Outsourcing) ด้านไอทีแหล่งใหญ่ของโลก ซึ่งการเดินกลยุทธ์นี้ทำให้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศให้อินเดียได้มากถึง 5.7 ล้านล้านบาท

“อินเดียตั้งธงไว้ว่าภายในปี 2568 จะทำให้ทุกจังหวัดของประเทศเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งอุปสรรคด้านความแตกต่างระหว่างชนชั้นในการเข้าถึงไอทีได้ถูกก้าวข้ามไปแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการลงทุนด้านโครงข่ายระบบ 4จี ครบแล้ว และมีต้นทุนการผลิตสมาร์ทโฟนที่ต่ำ จึงทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย” ศุภชัย กล่าว

ด้านจีนมีการเดินกลยุทธ์ที่ล้ำกว่า ผ่านการลอกเลียนแบบแล้วพัฒนาเทคโนโลยี และการส่งออกสินค้าในราคาต่ำกว่าด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อครองส่วนแบ่งตลาดโลกให้ได้ และเกิดการจ้างงานในประเทศ แม้ว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้จีนถูกมองว่าเป็นขาก๊อบ แต่จากกลยุทธ์นี้เองที่ทำให้จีนผงาดขึ้นมาบนเวทีโลกได้ จากเดิมที่ไม่มีโนว์ฮาวเป็นของตัวเอง ก็เกิดการเรียนลัดและพัฒนาจนกลายเป็นอีกประเทศที่น่ากลัว

เหตุนี้เองจึงทำให้จีนเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ข้อมูลบิ๊กดาด้า การใช้คลาวด์ เซอร์วิส และการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สาย (โมบิลิตี้) ในอันดับต้นๆ

“จีนเป็นประเทศที่มีการนำเอาเทคโนโลยีไอซีทีมาใช้ต่อยอดเพื่อเน้นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ และเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมามีการนำร่องใน 3 เมืองใหญ่ คือ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเสิ่นเจิ้น ก่อนที่จะขยายออกไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ” ศุภชัย กล่าว

ด้านญี่ปุ่นจากผู้ที่เคยผงาดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก แต่ก็ต้องมาติดหล่มตัวเองหลังจากที่ปรับเปลี่ยนจากโลกอะนาล็อกมาเป็นโลกดิจิทัล เพราะญี่ปุ่นไม่เก่งด้านการสร้างประสบการณ์ใหม่ แต่เก่งด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มหรือลดผลผลิต (ยิว) โดยมีการตั้งเป้าการเติบโตด้านธุรกิจไอซีทีไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 จากปี 2554 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท

“ญี่ปุ่นรู้ตัวเองดีจึงใช้ตลาดอี-คอมเมิร์ซเป็นตัวชูโรงในการทำสมาร์ท เพย์เมนต์ เห็นได้จากผู้เล่นหลักของธนาคารญี่ปุ่นจะเริ่มเห็นเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก และมีการทำสินเชื่อขนาดเล็ก (ไมโครไฟแนนซ์) เช่น อิออน แบงก์ (AEON Bank)เซเว่น แบงก์ (Seven Bank) และเรกูเท็น แบงก์ (Rakuten Bank)  ที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มดึงให้เกิด” ศุภชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ไทยยังยากที่จะหาอะไรมาเป็นจุดเด่นหรือตัวชูโรงได้ และต้องใช้เวลาค่อยๆ พัฒนาไป เพราะไทยยังติดปัญหาด้านกฎหมายอีกหลายตัวที่เป็นอุปสรรคต้องปลดล็อก จึงทำให้ไทยยังไม่เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์มที่แท้จริง