posttoday

ศักยภาพแรงงานไทยร่วง

22 พฤศจิกายน 2560

ไอเอ็มดี เผย การจัดอันดับเวิลด์ทาเลนต์แรงกิ้ง 2017 วัดความสามารถการแข่งขันด้านแรงงาน พบว่าปีนี้ไทยร่วงลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 42 จาก 63 ประเทศ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ(ไอเอ็มดี) ซึ่งศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ เปิดเผยการจัดอันดับเวิลด์ทาเลนต์แรงกิ้ง 2017 ซึ่งวัดความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงาน โดยประเมินจากการลงทุนและพัฒนาแรงงาน การดึงดูดแรงงานให้ทำงานในประเทศนั้นๆ และความพร้อมของแรงงาน ซึ่งพบว่าปีนี้ประเทศไทยร่วงลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 42 จากทั้งหมด 63 ประเทศ

ไทยเป็นอันดับ 3 ในหมู่ชาติอาเซียน 5 ประเทศ โดยสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 13 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 อันดับ ขณะที่มาเลเซียลดลงมา 7 อันดับ อยู่ที่ 28 ส่วนฟิลิปปินส์กระโดดขึ้นมา 10 อันดับ อยู่ที่ 45 และอินโดนีเซียยังคงรั้งอยู่ที่อันดับ 47

ในด้านการเตรียมความพร้อมแรงงาน ซึ่งวัดคุณภาพของทักษะและความสามารถ พบว่าไทยทำอันดับได้ต่ำที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน โดยอยู่อันดับที่ 50 เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ที่ 11 มาเลเซียที่ 27 และอินโดนีเซียที่ 47 ซึ่งไทยมีปัญหาในด้านคุณภาพการศึกษา ทักษะด้านภาษา รวมถึงขนาดตลาดแรงงานที่หดตัวลง 0.73% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งสัญญาณเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน ไทยยังตกอันดับในด้านการลงทุนและการพัฒนา โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่สัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา สูงถึง 1/29.54 คน ซึ่งเป็นอันดับที่ 62 จาก 63 ประเทศ

สำหรับฟิลิปปินส์ก้าวกระโดดขึ้นมา 10 อันดับ โดยเป็นผลมาจากการทำอันดับในด้านความพร้อมได้ดีสวนทางกับไทย ซึ่งตลาดแรงงานของฟิลิปปินส์เติบโตขึ้น 4.51% และยังมีแรงงานที่พร้อมกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีทักษะทางภาษาตรงกับความต้องการของบริษัทมาเป็นอันดับที่ 13 เทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ 50 ของโลก

ทั้งนี้ อันดับ 1-3 ในปีนี้ยังคงเป็น สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม ตามลำดับ ขณะที่ 10 อันดับแรกต่างเป็นประเทศจากยุโรป โดยไอเอ็มดีระบุว่า ระบบการศึกษาที่ยอดเยี่ยมของยุโรปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันของแรงงานสูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งทำให้ยุโรปสามารถสร้างแรงงานที่มีความสามารถควบคู่ไปกับการดึงดูดแรงงานต่างชาติ