posttoday

ลุ้นเลขาฯอาเซียนคนใหม่ ขับเคลื่อนนโยบาย

18 พฤศจิกายน 2560

"เลขาธิการอาเซียนจะต้องมีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม อยากให้อาเซียนมีกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียนที่ดีขึ้น"

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

บริษัท บางกอกโพสต์ ได้จัดงาน “บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017” เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ถึงความร่วมมือกันภายหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการ ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ภายในงานได้รับเกียรติจาก อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ร่วมกล่าวปิดงานพร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับหัวข้อการครบรอบ 50 ปีอาเซียน

อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ สะท้อนความคิดเห็นว่าการก่อตั้งอาเซียนเกิดขึ้นเมื่อปี 2510 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมือที่ทำให้อาเซียนอยู่รอดได้กว่า 50 ปี โดยภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยจีดีพีโลกในปี 2520 เริ่มมีข้อตกลงทางการค้าในภูมิภาคร่วมกัน กระทั่งขยายเป็นเขตการค้าเสรี (FTA) และขยายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในที่สุด ซึ่งกำจัดกำแพงภาษีเหลือเพียง 0-5% เท่านั้น แต่อาเซียนพบอุปสรรค มาตรฐานสินค้าเดียวกันและมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถทำการค้าร่วมกันได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ อาเซียนควรเร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งสองด้าน คือ ภาษีและมาตรฐานสินค้าเพื่อส่งออกระหว่างกัน ขณะที่อี-คอมเมิร์ซเข้ามามีบทบาทหลักของการค้ายุคปัจจุบัน อาเซียนต้องเร่งปรับตัวและปรับกฎระเบียบเอื้อต่อการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซซึ่งอี-คอมเมิร์ซจะเป็นเครื่องมือหลักให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นภาคส่วนธุรกิจสำคัญของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นทิศทางการพัฒนาของกลุ่มในประเทศอาเซียนหลังจากนี้ จะให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและส่งออกสินค้าเกษตร แต่พบว่า 1-10 ประเทศแรกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ขณะที่ความท้าทายในการพัฒนาภาคส่วนเกษตรกรรมของอาเซียน คือ การสร้างสมาร์ทฟาร์เมอร์ โดยการประชุม สุดยอดผู้นำอาเซียนปีล่าสุด ยังกล่าวถึงข้อตกลงการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนด้วย

สำหรับในระดับอนุภูมิภาคไทยเป็นส่วนหนึ่งของซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่งค่าเฉลี่ยจีดีพี 4.5% และเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก มีแนวโน้มการขยายตัวของชนชั้นกลางต่อเนื่อง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ดึงดูดการลงทุน และประเด็นสำคัญอาเซียนต้องตระหนักถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนจะต้องมีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม อยากให้อาเซียนมีกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียนที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความเปลี่ยน แปลงด้านความร่วมมือในภูมิภาคให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภูมิภาคสำคัญอย่างมากในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่หลั่งไหลเข้ามามากมาย ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและ
รูปแบบธุรกิจจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือด้วย