posttoday

เพิ่มโอกาส เอสเอ็มอีใน GMS

16 พฤศจิกายน 2560

อาเซียนได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

อาเซียนได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ของประเทศอาเซียนส่วนใหญ่มาจากการขยายกิจการในระดับภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคสามารถรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกได้

ทั้งนี้ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงได้มีการจัดงาน Investor Forum and Business Matching 2017 ขึ้นมา ซึ่งภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมแชร์ความรู้และยังมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอีจาก 19 จังหวัดในกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และไทย (CMVT)

วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ลุ่มน้ำโขง บอกว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีจำนวนมากในประเทศลุ่มน้ำโขงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลการตลาดและการส่งออกที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์แก่นักลงทุนต่างชาติและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้รับได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ โอกาสที่เอสเอ็มอีจะสามารถเข้าถึงตลาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีในยุคของการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั้น ยังเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กลุ่มเอสเอ็มอีในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) กำลังเจออยู่ เพราะจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี

“สถาบันได้พัฒนาฐานข้อมูลธุรกิจขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายทางธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอี ใน 19 จังหวัดตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจตอนใต้ (เอสอีซี) ใน CMVT เพื่อให้เข้าถึงตลาดระดับภูมิภาคและโลก ผ่านโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในภาคใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (เอเอ็มเอส) ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้า การลงทุน และช่วยเพิ่มช่องทางธุรกิจให้แก่เอสเอ็มอี” วัชรัศมิ์ กล่าว

วัชรัศมิ์ บอกอีกว่าเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงโอกาสการลงทุน การเชื่อมโยงทางธุรกิจที่กว้างขึ้น ทางสถาบันจึงได้จัดให้มีฟอรั่มนักลงทุนและจับคู่ธุรกิจขึ้น โดยมีตัวแทนจากการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องแบบโอตาไกของประเทศญี่ปุ่นร่วมเป็นพันธมิตร เพราะการเติบโตของวิสาหกิจในญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการลงทุนและการค้ากับประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “ไทยพลัสเอ”

อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าในระยะยาวเมื่อเกิดการจับคู่ทางธุรกิจและมีความร่วมมือทางการค้า การลงทุน จะช่วยผลักดันทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในแต่ละประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 96% ในพื้นที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและมีการจ้างงานมากถึง 60%

ไดสุเกะ ฮิรัตซึกะ ประธานศูนย์วิจัยกรุงเทพ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ เจโทร กรุงเทพ ให้ข้อสังเกตพิเศษเกี่ยวกับมุมมองจากญี่ปุ่นที่ลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่าจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ากัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และไทย กำลังมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้นในด้านการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นและอาเซียน โดยธุรกิจขายส่ง-ขายปลีกยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องจักรไฟฟ้าเป็นสาขาที่นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลงทุนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง