posttoday

ลงทุนอาเซียน โอกาสมาก ความเสี่ยงสูง

04 ตุลาคม 2560

ข้อมูลจากงานสัมมนา "Thailand Overseas Investment Forum 2017" ระบุว่า การลงทุนในอาเซียนมีโอกาสมาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ข้อมูลจากงานสัมมนา "Thailand Overseas Investment Forum 2017" ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดี อาร์ไอ) สมเกียรติ ตั้งกิจวินิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ บอกว่า การลงทุนในอาเซียนมีโอกาสมาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

ความเสี่ยงนั่นก็คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในการยอมรับสินค้าในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แม้ว่าสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมในสายตาเพื่อนบ้าน แต่ควรต้องศึกษาตลาดแต่ละประเทศให้เข้าใจดี

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาถึงโอกาส และความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุน 6 ประเทศอาเซียนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไว้เริ่มจาก "อินโดนีเซีย" ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนควรมองตลาดในประเทศไม่ใช่เพื่อการส่งออก ขณะที่เดิมอินโดนีเซียได้ชื่อว่ามีข้อกฎหมายกีดกันการค้าสูงอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันข้อกฎหมายถูกยกเลิกไปบ้างแล้ว

กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเข้าไปลงทุนคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะผู้ประกอบการอินโดนีเซียยังผลิตได้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ข้อควรระวังคือ ต้นทุนโลจิสติกส์สูงมากโดยเฉพาะการขนส่งข้ามเกาะ และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

"เวียดนาม" มีความได้เปรียบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-อียู จะมีผลบังคับใช้ 100% ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งจะช่วย ให้ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนใน เวียดนามได้ประโยชน์จากข้อตกลงไปด้วย และแนะนำว่าผู้ประกอบการไทยควรเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ไม่ควรหุ้นกับหุ้นส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีการคอร์รัปชั่นสูงและยังมีต้นทุนแฝงที่ต้องคำนึง

สำหรับ "เมียนมา" แม้จะมีความไม่ชัดเจนของนโยบายแต่ปัจจุบันมีแผนการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 7 เขตใหม่ เพิ่มโอกาสธุรกิจเทรดดิ้งและ ค้าปลีก และล่าสุดรัฐบาลได้อนุญาตให้ต่างชาติทำการค้าโดยไม่มีข้อจำกัดในธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพืช ยาฆ่าแมลง อุปกรณ์การแพทย์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ ข้อแนะนำในตลาดเมียนมาต่างกับเวียดนามตรงที่ต้องมีพันธมิตรทางการค้า

"ฟิลิปปินส์" เหมือนแบ่งเป็น 3 ประเทศ (เกาะลูซอน เกาะวิซายัส เกาะมินดาเนา) ดังนั้น หากสนใจจะขายสินค้าในเกาะใดเกาะหนึ่ง ควรตั้งโรงงานในเกาะนั้นเลย เนื่องจากค่าโลจิสติกส์สูงกว่าขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านท่องเที่ยว นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 6 ปี

"สปป.ลาว" มีความโดดเด่นในธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรร่วมทุนกับคนท้องถิ่น เนื่องจากอิทธิพลนักธุรกิจท้องถิ่นยังมีสูง ขณะที่ "กัมพูชา" การลงทุนการผลิตควรตั้งโรงงานที่ปอยเปต เกาะกง พนมเปญ หรือสีหนุวิลล์ เนื่องจากการเข้าถึงไฟฟ้ามีมากกว่าพื้นที่อื่น จุดเด่นคือ รัฐบาลเปิดเสรีให้นักธุรกิจต่างชาติ ถือว่าเอื้อสำหรับการเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก แต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี

จากการศึกษาที่ได้ ทำให้เห็นว่าโลกยุคโลกาภิวัตน์ การค้า การลงทุนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนระหว่างอาเซียนที่มีโอกาสให้เห็นมากขึ้น แต่ความเสี่ยงก็นับว่ายังสูงเช่นกัน ทว่าความเสี่ยงสูงสุดคือ การไม่คิดออกไปลงทุนเลยมากกว่า