posttoday

‘ออลล่า’ รุกตลาดเมียนมา-อินโดฯ

11 เมษายน 2560

จุดเริ่มต้นกิจการ “ออลล่า” ที่อาศัยประสบการณ์และมองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้านเครื่องจักรหนัก และอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล 

จุดเริ่มต้นกิจการ “ออลล่า” ที่อาศัยประสบการณ์และมองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้านเครื่องจักรหนัก และอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2535 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายเครน รอกไฟฟ้า ประตูอุตสาหกรรม และสะพานปรับระดับให้กับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ถึงในปัจจุบันยังเตรียมขยับขยายไปยังตลาดอาเซียน

องอาจ ปัณฑุยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล่า หรือ ALLA ผู้ผลิต จำหน่าย และติดตั้งเครน และรอกไฟฟ้า อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ และสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม และคลังสินค้าต่างๆ เปิดเผยว่า ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เป็นการรองรับใน 2 กลุ่มลูกค้าหลักอย่างอุปกรณ์โลจิสติกส์ ขนถ่ายสินค้าต่างๆ ประตูอุตสาหกรรม ด้วยในช่วงนั้นยังไม่มีผู้เล่นมากนัก และกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความคุ้นเคยใช้บริการรถยก เครน งานโหลดสินค้าในแวร์เฮาส์ เป็นต้น

โดยหลังจากดำเนินกิจการมาได้สักระยะ และมีโอกาสไปฝึกอบรมจากเยอรมนีเกี่ยวกับเครนไฟฟ้าที่ได้ต่อยอดบริการธุรกิจเพิ่ม จากนั้นอีก 2-3 ปีถัดมาเริ่มมีเงินทุนมากขึ้น จึงได้เริ่มติดต่อขยายงานกับต่างประเทศ พร้อมได้รับการแต่งตั้งจาก STAHL Crane Systems ประเทศเยอรมนี ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย และสร้างโรงงานเพื่อไว้รองรับการผลิตชิ้นส่วนเครน มีพื้นที่ใช้สอย 1,500 ตร.ม.

จากนั้นในปี 2549 บริษัทได้รับการติดต่อจาก ABUS Crane Systems GmbH ประเทศเยอรมนี ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบเครนและรอกไฟฟ้ายี่ห้อ ABUS แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แต่เนื่องจาก ALLA เป็นตัวแทนจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบเครนและรอกไฟฟ้ายี่ห้อ STAHL อยู่แล้ว จึงให้บริษัท ออนวัลล่า ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มาเป็นตัวแทนจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบเครนและรอกไฟฟ้ายี่ห้อ ABUS แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแทน

องอาจ เล่าว่า จากความชำนาญของบริษัทในประเทศ ทำให้มองเห็นโอกาสในลักษณะเดียวกันนี้ในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน โดยอยู่ระหว่างศึกษาแผนขยายการลงทุนไปยังประเทศเมียนมา ด้วยฐานลูกค้าเดิมชาวญี่ปุ่นมีการขยายการลงทุนในประเทศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันก็เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาบางส่วนแล้ว รวมถึงศึกษาแผนขยายการลงทุนไปยังอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการสร้างรายได้ให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต คาดจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

“ในช่วงแรกของการเข้าตลาดอาเซียน บริษัทมองเห็นศักยภาพในเมียนมาและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปตามฐานลูกค้าเดิมอย่างนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในตลาดทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียที่มีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้บริการระบบอุปกรณ์ต่างๆ ของบริษัทตามมา” องอาจ กล่าว

ขณะที่ในปีนี้บริษัทมีแผนพัฒนาด้านการตลาด และปรับกลยุทธ์ให้เป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในเพื่อลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มสูงขึ้น และมีความหลากหลายในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจอีกด้วย

สำหรับในปีนี้บริษัทคาดว่าภาพรวมจะดีขึ้นจากปีก่อน จากแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เห็นได้ชัดจากข้อมูลการเสนอราคาเพื่อเข้ารับงานในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวทั้งจำนวนและมูลค่าของงาน โดยบริษัทวางเป้ารายได้ในปีนี้เติบโต 20% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและบริการที่เกี่ยวข้อง 607 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีความต้องการเครน และรอกไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ และสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม และคลังสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปีนี้บริษัทเตรียมที่จะเสนอเข้ารับงานมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน