posttoday

รับนักลงทุนจีน

08 ธันวาคม 2559

“สมคิด” กระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีน เตรียมความพร้อมดูดนักลงทุน หนุนไทยขึ้นดิจิทัลฮับ อาเซียน

“สมคิด” กระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย-จีน เตรียมความพร้อมดูดนักลงทุน หนุนไทยขึ้นดิจิทัลฮับ อาเซียน

รายงานข่าวระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (เดอะ มีตติ้ง ออฟ เดอะ จอยท์ คอมมิตตี้ ออน เทรด, อินเวสต์เมนต์ แอนด์ อีโคโนมิก โคออเปอเรชั่น บีทวีน ไทยแลนด์ แอนด์ ไชน่า หรือเจซี เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ โดยจะเป็นประธานร่วมกับ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐแห่สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมพบปะหารือกับนักธุรกิจและนักลงทุนสำคัญของจีน เพื่อเดินหน้าสร้างความมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมเจซี เศรษฐกิจ ไทย-จีน เป็นกลไกการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมากด้วยทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้นในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยและจีน เน้นพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงด้านต่างๆ และการพัฒนาการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และไอซีที/ดิจิทัล ที่สามารถร่วมขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่สองประเทศมีความสนใจและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะแนวคิด วัน เบลท์ วัน โร้ด ที่ไทยพร้อมใช้จุดแข็งของไทยในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่ตั้ง

ทั้งนี้ ไทย-จีน มียุทธศาสตร์คอนเนกทิวิตี้ที่สอดรับกัน ของจีน คือ วัน เบลท์ วัน โร้ด คู่ไปกับ วัน เบลท์ วัน เรย์ ภายใต้นโยบายอินเทอร์เน็ต พลัส ส่วนของไทย คือ ยุทธศาสตร์ระบบรางอีอีซี ควบคู่กับยุทธศาสตร์ดิจิทัล อีโคโนมี ทรานส์ฟอร์เมชั่น รวมถึงพัฒนาให้ไทยก้าวสู่การเป็นลีดดิ้ง ดิจิทัล ฮับ หรืออี ฮับของอาเซียน ที่ช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 โดยทั้งสองฝ่ายสามารถขยายความร่วมมือต่างๆ ไปยังซีแอลเอ็มวีและอาเซียน โดยไทยพร้อมเชื่อมโยงจีน-อาเซียน จีน-อินเดีย และจีน-เอเชียใต้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ยังจะลงนามเอกสารเพื่อต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี รวมถึงแผนปฏิบัติการร่วม ซึ่งระบุสาขาความร่วมมือหลัก 5 สาขา ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ระบบรางมาริไทม์) 2.การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 3.การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล/อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอี-คอมเมิร์ซ 4.ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 5.พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในเชิงลึกต่อไป

ขณะที่ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ส่วนไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 13 ของจีน เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 12 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2558 การค้าทั้งสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 6.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าการค้ารวมไทยกับจีน 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ