posttoday

ไขสูตร ‘เฟรชมี’ ป้อนเครื่องดื่มชาเพื่อนบ้าน

26 มกราคม 2559

จุดเริ่มต้นจากความชอบได้กลายเป็นธุรกิจเงินล้าน จนทุกวันนี้ “เฟรชมี” แบรนด์เครื่องดื่มชาหลากรสชาติมีร้านแฟรนไชส์อยู่ทั่วประเทศ

โดย...รัชนีกร รัตนชัยฤทธิ์

จุดเริ่มต้นจากความชอบได้กลายเป็นธุรกิจเงินล้าน จนทุกวันนี้ “เฟรชมี” แบรนด์เครื่องดื่มชาหลากรสชาติมีร้านแฟรนไชส์อยู่ทั่วประเทศ และได้ขยายธุรกิจไปยังเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ด้วย

กวิสรา จันทร์สว่าง กรรมการบริษัท เฟรชมี เล่าความเป็นมาของเครื่องดื่มชาแบรนด์ “เฟรชมี” ว่า เธอนำวัตถุดิบจากแหล่งในไต้หวันมาปรับเปลี่ยนให้มีรสชาติหลากหลายและถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น โดยอาศัยที่เธอรักการทำอาหารและชอบคิดเมนูใหม่ๆ อยู่แล้ว เมื่อมาประกอบกับความชอบทำธุรกิจ จึงตัดสินใจเปิดร้านขายเครื่องดื่มชา และได้รับความนิยมเกินคาดหมาย สามารถคืนทุนและได้กำไรภายในเวลาอันรวดเร็ว จนปัจจุบันมีร้านแฟรนไชส์ 120 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากธุรกิจในเมืองไทยแล้ว เฟรชมียังไปเตะตาผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากธุรกิจเริ่มเติบโต เฟรชมีได้เป็นสมาชิกกรมพัฒนาการค้าและกระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีโอกาสจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการกัมพูชา ซึ่งซื้อสิทธิแฟรนไชส์ไปเปิดร้านในกรุงพนมเปญ

เช่นเดียวกับการออกงานแสดงสินค้าที่เมียนมา ที่ทำให้ผู้ประกอบการเมียนมาสนใจติดต่อขอมาดูงานในไทย ก่อนซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดที่กรุงย่างกุ้ง และผู้ประกอบการชาวลาวมาซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดที่เวียงจันทน์ และสะหวันนะเขต

กวิสรา อธิบายว่า จุดขายของแบรนด์คือเน้นรสชาติที่มีเอกลักษณ์ และความแปลกใหม่ของท็อปปิ้งหลากชนิดที่ใส่ลงไปในเครื่องดื่ม

“ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไป จะต้องผ่านการฝึกอบรมระบบต่างๆ วิธีการผสมชา เรายังช่วยผู้ประกอบการเลือกพื้นที่ขายด้วย ส่วนภาพลักษณ์ของเฟรชมีจะเน้นความสดใสและมีสไตล์การตกแต่งร้านที่สวยงามน่านั่ง” กวิสรา เล่า

ด้านกลยุทธ์การตลาด กวิสรา บอกว่า จะเน้นการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ เช่น ซื้อ 10 แก้ว ฟรี 1 แก้ว แจกให้ชิมฟรี ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้ทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาเป็นลูกค้าประจำของร้าน

สำหรับตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน กวิสรา ได้แจกแจงกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างๆ ว่า ลูกค้าชาวเมียนมาส่วนใหญ่เป็นคนระดับกลาง-บน และคนวัยทำงาน จะเปิดร้านในทำเลย่านธุรกิจในย่างกุ้ง

ส่วนในกัมพูชาจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปบ้างในแง่การตกแต่งที่เน้นความหรูหรามากขึ้น แต่ยังคงคอนเซ็ปต์สีและสัญลักษณ์ต่างๆ เหมือนเดิม ทำเลร้านเฟรชมีในกรุงพนมเปญอยู่ติดกับสถาบันการศึกษานานาชาติ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่คือนักเรียนที่ค่อนข้างมีฐานะ และจะเน้นจับกลุ่มลูกค้ากลาง-บนเช่นกัน

“คนกัมพูชานิยมสินค้าไทยอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ และเทรนด์ของเฟรชมีก็มาแรงมาก ถึงขนาดที่ว่านักเรียนกัมพูชาที่ดื่มเครื่องดื่มเฟรชมีนั้นเป็นภาพลักษณ์ที่
ดูเท่ ดูดี และทันสมัย” กวิสรา อธิบาย

ขณะที่ร้านแฟรนไชส์ใน สปป.ลาว ก็อยู่ในทำเลหน้าสถาบันการศึกษาเช่นกัน โดยเน้นจับกลุ่มผู้บริโภคกลาง-บน รวมถึงนักเรียนนักศึกษา และจะตั้งราคาสินค้าก็ไม่ต่างจากที่ไทยมากนัก

สำหรับการโฆษณาสินค้าในเมียนมานั้น มีการลงโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารบ้าง กัมพูชาเองก็มีการออกสื่อรูปแบบเสียงตามสายโดยดีเจวิทยุ ส่วนลาวมีการโฆษณาให้ลูกค้าในบริเวณข้างเคียงรับรู้ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการออกสื่อโฆษณามากนัก เนื่องด้วยการโฆษณาเองก็ต้องใช้เงินทุนสูง และต้องรอการขยายสาขาเพิ่มในอนาคต

กวิสรา ยังพูดถึงความท้าทายในการทำธุรกิจว่า คือการต้องเข้าใจตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดๆ นั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเติบโตมากเหมือนในประเทศไทย

“แนวโน้มการขยายธุรกิจในอนาคต เฟรชมีอยากจับกลุ่มตลาดซีแอลเอ็มวีและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตเหมือนกับในประเทศไทยที่ตอนนี้มีมากกว่า 100 สาขา เป้าหมายต่อไปคือการขยายธุรกิจในเวียดนาม และเพิ่มสาขาในตลาดที่เข้าไปได้แล้ว ตอนนี้ยอดขายเฟรชมีในไทยมีมูลค่ากว่า 160 ล้านบาท/ปี และหวังว่าจะเติบโตได้อีกมากในอนาคต” กวิสรา กล่าวถึงอนาคตของเฟรชมี