posttoday

เจาะตลาดเศรษฐีน้ำมัน โอกาสลงทุน‘บรูไน’

16 ธันวาคม 2558

แม้จะมีจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในอาเซียน แต่เมื่อพูดถึงรายได้ต่อหัวของประชากรของ “บรูไน” แล้วเป็นรองแค่ “สิงคโปร์” เท่านั้น

โดย...ทีมข่าวประชาคมอาเซียนโพสต์ทูเดย์

แม้จะมีจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในอาเซียน แต่เมื่อพูดถึงรายได้ต่อหัวของประชากรของ “บรูไน” แล้วเป็นรองแค่ “สิงคโปร์” เท่านั้น ข้อมูลล่าสุดในปี 2552 อยู่ที่ 49,790 เหรียญสหรัฐ

โดยความมั่งคั่งของบรูไนมาจากอุตสาหกรรมหลักคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และอุตสาหกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนกว่า 50% ของจีดีพีประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดการผลิตน้ำมันของบรูไนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือนับตั้งแต่ปี 2549 การผลิตลดลงแล้วประมาณ 40% และมีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลบรูไนจึงได้พยายามผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้กลายมาเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการพัฒนา “Vision Brunei 2035” บรูไนจะเน้นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6% โดยการเพิ่มผลิตภาพ และจะต้องลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมพลังงานให้น้อยลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลบรูไนได้พยายามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มากขึ้นซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลสนับสนุนมีหลายคลัสเตอร์ ได้แก่ อาหาร เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง พลังงานทดแทน ดาต้า เซ็นเตอร์ และศูนย์ฟื้นฟูภัยพิบัติ

เชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย ว่า ธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนคือธุรกิจที่รัฐบาลบรูไนให้ความสำคัญและส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติลงทุน ได้แก่ ธุรกิจฮาลาล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภาคบริการและโลจิสติกส์ การพัฒนาเคมีภัณฑ์จากอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เช่น เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และอาหารเสริม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เพื่อลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมพลังงาน มีความพยายามปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ แต่ก็ยอมรับว่าการทำการค้าการลงทุนในบรูไนยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ผู้ประกอบการต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

เอกอัครราชทูตไทยประจำบรูไน ขยายความถึงข้อจำกัดดังกล่าวว่า บรูไนมีประชากรประมาณ 4 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดเล็กผู้เข้ามาลงทุนจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการเปิดตลาด ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติที่ลงทุนในบรูไนจะต้องร่วมทุนกับชาวบรูไนเท่านั้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของบรูไน เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ถนน และท่าเรือ ยังต้องได้รับการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและการดำเนินธุรกิจต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะทำการค้าหรือเข้ามาลงทุนในบรูไน ควรจะเข้ามาศึกษาตลาดและข้อมูลกฎระเบียบการค้าและการลงทุนต่างๆ ของบรูไนให้เข้าใจ และตอนนี้ยังไม่เปิดเสรีด้านการลงทุนสำหรับต่างชาติ นักธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนในบรูไนจึงต้องร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาอุปนิสัยใจคอและวัฒนธรรมในการทำงาน ต้องหาหุ้นส่วนที่สามารถเชื่อถือได้ เพื่อจะได้ประกอบธุรกิจร่วมกันได้”

ขณะที่ด้านการค้า ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปบรูไนมูลค่ารวม 89.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 25% และนำเข้าสินค้าจากบรูไนรวม 524.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.4%

สำหรับสินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดบรูไนช่วงปี 2557-2558 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ปูนซีเมนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เซรามิก

ขณะที่สินค้านำเข้าหลักที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดคือ น้ำมันดิบ มูลค่าประมาณ 514 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ

กระทรวงพาณิชย์ยังได้ระบุถึงความท้าทายในการทำการค้ากับบรูไน ว่า ในส่วนของอาหาร บรูไนจะนำเข้าเฉพาะอาหารฮาลาลเท่านั้น ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานของบรูไน และ
ขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัวในการส่งสินค้า อีกทั้งยังมีปัญหาด้านการขนส่งทางเรือที่มีสินค้าเฉพาะเที่ยวไป ไม่มีสินค้าเที่ยวกลับ และยังใช้ประเภทเรือในการนำเข้าส่งออกต่างกันด้วย

และนี่คือโอกาสและความท้าทายในตลาด “บรูไน” ที่ผู้ประกอบการไทยต้องชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนตัดสินใจว่าไปต่อหรือไม่