posttoday

หนุนสร้างสนามบินเลิงนกทารับเออีซี

12 พฤศจิกายน 2558

หลังจากคณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงพื้นที่ จ.ยโสธร

โดย...ชูโรจน์ ตรีประภากร

หลังจากคณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงพื้นที่ จ.ยโสธร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและภาคเอกชนเกี่ยวกับการสร้างสนามบินพาณิชย์ ส่วนใหญ่สนับสนุนให้พัฒนาสนามบินเลิงนกทา จ.ยโสธร เนื่องจากเป็นสนามบินกองทัพบกซึ่งมีความเหมาะสมที่สุด ใช้เวลาบูรณะปรับปรุงไม่นานและหยัดงบประมาณรัฐบาลได้

ภมร เชาว์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ในฐานะองค์กรเอกชนดูความเป็นไปได้ของพื้นที่สนามบินดังกล่าว บอกว่า ก่อนหน้านี้หอการค้าจังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธร ได้ประชุมหารือเรื่องการพัฒนาสนามบินทหารเลิงนกทา จ.ยโสธร ให้เป็นสนามบินพาณิชย์ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากรัฐบาลจะสร้างสนามบินพาณิชย์เพราะจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารและใกล้เคียง ตลอดทั้งเปิดประตูสู่อาเซียน สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

“จะสร้างที่ จ.มุกดาหาร หรือเลิงนกทาก็ไม่แตกต่างกัน เพราะสถานที่มีความเหมาะสมทำได้จริง ทำได้เร็ว ใช้งานได้เร็ว รัฐบาลต้องดำเนินการทันที เพื่อจะได้ใช้งานเร็วที่สุด ไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ เราเสียเวลากับเรื่องสนามบินมานานนับยี่สิบปี สนามบินแห่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากรัฐบาลพิเศษชุดนี้เท่านั้น ทั้งสองแห่งพื้นที่ใดเหมาะสม มีความเป็นไปได้สูง ขอให้ดำเนินการทันที”

ภมร บอกต่อว่า ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน สปป.ลาว ฝั่งตรงข้ามกับ จ.มุกดาหาร ก้าวหน้าไปไกลมีนักธุรกิจนานาชาติรวมทั้งไทยไปลงทุนหลายพันล้านบาท ดังนั้น จ.มุกดาหาร ต้องสร้างเครือข่ายระบบด้านการสื่อสารให้ครอบคลุม ภาคการเงินการธนาคารที่มั่นคงสามารถโอนเงินได้มาก การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว รองรับภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านโดยเร็ว

ขณะที่ ปัณณทัต อุทธิเสน ผู้ช่วยธนารักษ์พื้นที่จังหวัดยโสธร บอกว่า พื้นที่สนามบินกองทัพบก (เลิงนกทา) จากเอกสารแผนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ยส.855 (สนามบินเลิงนกทา) บ้านโคกสำราญ-โคกตลาด อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร มีพื้นที่กว่า 5,700 ไร่

ทั้งนี้ กองทัพบกได้สงวนไว้ใช้ในราชการ 640 ไร่เศษ ความยาวรันเวย์ตามสถานที่เดิม 1,500 เมตร หากจะขยายความกว้างของรันเวย์เป็น 300 เมตร จะล้ำเข้าไปในเขตเช่าที่ของประชาชน 19 ราย พื้นที่ประมาณ 187 ไร่

หากมีการขยายทางยาวของรันเวย์ขึ้นไปทางทิศเหนืออีก 1,000 เมตร เป็นระยะทางยาว 2,500 เมตร จะล้ำเข้าไปในเขตเช่าที่ของราชพัสดุอีก 14 ราย พื้นที่ประมาณ 120 ไร่เศษ เมื่อสนามบินมีทางยาวของรันเวย์ 2,500 เมตร ความกว้าง 300 เมตร จะล้ำเข้าไปในพื้นที่เช่าของราชพัสดุจำนวน 33 ราย พื้นที่ประมาณ 307 ไร่ หากรัฐบาลต้องการจะใช้พื้นที่พัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์สามารถดำเนินการได้ทันที

ด้าน พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวว่า สนามบินทหารเลิงนกทา ที่ประชาชนอยากให้พัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ สนช.ได้ให้ความเห็นว่า สนามบินเลิงนกทามีความเหมาะสมเพราะเป็นสนามบินเก่าของทหาร การพัฒนาให้เป็นสนามบินพาณิชย์ลงทุนน้อยกว่าที่จะสร้างใหม่ และยังเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนในจังหวัดข้างเคียง ซึ่งจะเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป