posttoday

เปิด7เทรนด์พลิกอุตฯอาหาร ผู้บริโภครักสุขภาพ-สูงวัย

22 ตุลาคม 2558

อุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอาเซียน มีผู้เล่นอยู่ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างสนใจ

โดย ตะวัน หวังเจริญวงศ์

อุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอาเซียน มีผู้เล่นอยู่ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างสนใจไปบุกตลาดต่างประเทศ ผู้สนใจจะบุกตลาดต่างประเทศจึงจำเป็นต้องทราบทิศทางความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารอาเซียน

อาลี โพเทีย รองผู้อำนวยการ แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี สิงคโปร์ กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Business Forum 2015 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ว่า ขณะนี้มี 7 ประเด็นสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1.การขยายตัวของชุมชนเมือง ประชากรอาเซียนมีแนวโน้มจะเข้าสู่ชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 93 ล้านคนในปี 2573 ทำให้ประชากรอาเซียนกระจุกตัวอยู่ในจังหวัด
ใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 2 แสนคน ถึงราว 43% จาก 36% ในปี 2555 โดยไทยจะมีประชากรเขตเมืองเพิ่มขึ้น 11% หรือคิดเป็น 49% ในปี 2578

เมื่อประชากรไปกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ส่งผลให้ตลาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องทราบว่าเมืองใดกำลังจะขยายตัวบ้าง ไม่ใช่แค่เจาะตลาดเมืองขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้ต้องรู้จักเลือกช่องทางขายสินค้าอาหารในเขตเมือง เช่น โมเดิร์นเทรด ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

2.ความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นบริโภคและชนชั้นต้องการบริโภค โครงสร้างประชากรกลุ่มต่างๆ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ 2-7 หมื่นบาท จะเพิ่มจาก 22 ล้านครัวเรือน เป็น 46 ล้านครัวเรือนในปี 2568 อย่างไรก็ดี ครัวเรือนที่มีรายได้ 7,500-2 หมื่นบาท จะเพิ่มจาก 52 ล้านครัวเรือน เป็น 79 ล้านครัวเรือนด้วย

3.ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม ช่วงวัยของประชากรในอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี 2593 โดยไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงถึง 27% อายุเฉลี่ยประชากรไทยเพิ่มจาก 38 ปีในปี 2558 เป็น 51 ปีในปี 2593 ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนนั้น จำนวนประชากรอาจไม่ถึงขั้นเติบโตติดลบ แต่อายุเฉลี่ยของประชากรก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ภาพรวมประชากรอาเซียนปัจจุบัน ถือเป็นประชากรวัยเยาว์ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรยังมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

การจะเจาะตลาดอาเซียนในยุคต่อไป จึงต้องใส่ใจหลายกลุ่ม ทั้งต้องเติมเต็มความต้องการเฉพาะในประเทศที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เจาะตลาดวัยเยาว์และทำให้สินค้าเติบโตไปพร้อมกับตลาด

4.ความใส่ใจด้านสุขภาพ จากการสำรวจพบว่า กลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดย 3 จาก 4 ปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุด คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัยต่อการรับประทาน และผลิตจากแหล่งหรือแบรนด์ที่เชื่อถือได้

สำหรับไทยได้คะแนนด้านคุณภาพและความปลอดภัย 57.4 คะแนน คิดเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

5.สินค้าใหม่กับเส้นโค้งรูปตัวเอส (S-Curve) สินค้าใหม่ในอนาคตจะต้องเน้นสินค้านวัตกรรม ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นไปตามเส้นโค้งรูปตัวเอส ขณะเดียวกันสินค้าใหม่ยังอาจเติบโตไปตามการเติบโตของการบริโภคด้วย

6.ความไม่เพียงพอของสินค้าโภคภัณฑ์ การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางจะเปลี่ยนแปลงไป อาจมีการใช้จ่ายอย่างสุขุมรอบคอบมากขึ้น อย่างไรก็ดี อาเซียนจะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการอาหารทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

7.นักช็อปหน้าใหม่ ในปี 2562 คาดว่าการค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดในอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้มูลค่าการค้าผ่านโมเดิร์นเทรดคิดเป็น 21% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด เติบโตขึ้นจากปี 2557 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 16% เท่านั้น หลายประเทศในอาเซียนก็มีแนวโน้มจะเติบโตในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซีย

ด้าน อัมพร กาญจนกำเนิด ประธานฝ่ายปฏิบัติการระดับสูง กลุ่มธุรกิจการผลิตและการตลาด บริษัท มิตรผล กล่าวว่า ความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ 1.โลจิสติกส์ 2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (เอ็นทีบี) 3.มาตรการศุลกากร และ 4.ทัศนคติของผู้บริโภคที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากยุโรปดีกว่าผลิตภัณฑ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน