posttoday

2มุมมองเขตเศรษฐกิจพิเศษ หนองคาย-สปป.ลาว

01 ตุลาคม 2558

การเปิดงาน “สุดยอดแบรนด์ไทย” ที่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์

โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่

การเปิดงาน “สุดยอดแบรนด์ไทย” ที่โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการสัมมนาเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทย-สปป.ลาว ก้าวสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน ซึ่งมุมมองของประสงค์ คงเคารพธรรม รอง ผวจ.หนองคาย และ เขิงคำ แก้วหนูจัน รองหัวหน้ากองเลขาคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ สปป.ลาว มีมุมมองที่น่าสนใจ

ประสงค์ มองว่าจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องมีสินค้าและนวัตกรรมของตนเอง เพราะขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลจะทำคือซูเปอร์คลัสเตอร์ เป็นพื้นที่ออกมาทาง จ.ปทุมธานี เพื่อดำเนินการนวัตกรรมใหม่ๆ ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก

รอง ผวจ.หนองคาย กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีความพร้อมมากที่สุด 1.ตั้งอยู่ปลายสุดถนนสายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ 2.ระบบรางหนองคาย-กรุงเทพฯ และตะวันออก ซึ่งจะพัฒนาเป็นรางคู่ปกติ และความเร็วปานกลาง 3.มีถนนปีกสองข้างตะวันออกไป จ.นครพนม ตะวันตกไป จ.เลย ขึ้นไปภาคเหนือ 4.มีสนามบินที่ จ.อุดรธานี และ 5.มีความพร้อมที่ดิน เพียงเริ่มขยับก็เครื่องเดินแล้ว โดยมีการส่งสินค้าเกษตรทางราง ไป-กลับท่าเรือด้านตะวันออกแล้ว

“เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ไม่ใช่เพียงแค่ จ.หนองคาย แต่ยังหมายรวมถึงอีสานตอนบน และ สปป.ลาว ที่จะสามารถเกื้อหนุนกันได้ ยกตัวอย่าง ‘เอนเตอร์เทนเมนต์ที่บึงท่าหลวง’ จ.หนองคาย พร้อมจะผลิตสินค้าอาหารจำหน่าย หาก สปป.ลาว สนใจ แต่ที่มีปัญหาขณะนี้คือ ความพร้อมของคนของเราเองโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะต้องให้พร้อมกับตลาดใหม่” รองผวจ.หนองคาย กล่าว

ด้าน ดร.เขิงคำ กล่าวว่า สปป.ลาว มีเป้าหมายชัดเจนว่า ในปี 2563 จะต้องพ้นจากประเทศยากจน โดยมีประชากรเพียง 6.2 ล้านคน ช่วงแรกการพัฒนาประเทศอาจเดินผิดพลาดไปบ้าง ก็ต้องมาแก้ไขปรับเปลี่ยนกันให้ดีขึ้น หน่วยงานกองเลขาคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจเฉพาะนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2554 มีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 4 คน ตอนนี้เดินมาเกือบครึ่งทาง มีเจ้าหน้าที่เพิ่มเป็น 120 คน

“สปป.ลาว ตามภูมิศาสตร์เราอยู่กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือจีเอ็มเอส  มีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว 11 เขต อยู่ในเวียงจันทน์ 5 เขต ที่เหลือกระจายอยู่ทั่วประเทศ แยกเป็นการค้า 3 เขต บริการ 3 เขต และผลิต 5 เขต เป็นการลงทุนของ สปป.ลาว จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม เงินลงทุนมากกว่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ สิทธิพิเศษลดภาษี 50% ขณะที่มีการลงทุนอื่นในอันดับ 1 จีน 5,396 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 ไทย 4,455 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 เวียดนาม 3,393 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการลงทุนมีการซื้อสินค้า วัสดุก่อสร้างจากไทยสูงสุด”

นี่คือข้อมูลเบื้องต้นสำหรับประเทศลาว แม้จะเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย อาจไม่ใช่ตลาดใหญ่ แต่ทำเลที่ตั้งสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งจีน และเวียดนาม รวมถึงการเชื่อมต่อยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก จากทะเลจีนใต้สู่อันดามัน ยุทธศาสตร์การค้าลุ่มน้ำโขง จึงไม่อาจมองข้ามได้