posttoday

ส่งออกด่านแม่สายยังแรง แม้ท่องเที่ยวชายแดนซบ

12 มิถุนายน 2558

ความซบเซาของการท่องเที่ยวเมืองชายแดนอย่างตลาดแม่สาย จ.เชียงราย

โดย...ชินภัทร์ ไชยมล

ความซบเซาของการท่องเที่ยวเมืองชายแดนอย่างตลาดแม่สาย จ.เชียงราย นักท่องเที่ยวซึ่งเคยมาเยือนวันละนับหมื่นคน หดหายเหลือเพียงแค่หลักพันคน อาจสร้างความตกตะลึงต่อการค้าชายแดนซึ่งถูกคาดหวังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ในความจริงแล้ว การท่องเที่ยวชายแดนและการค้าชายแดนส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีสภาพที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิง

มูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านด่านแม่สายเข้าสู่จังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่า ในช่วงปีงบประมาณ 2558 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 เป็นต้นมา แม้จะลดลงบ้างหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 แต่ก็ไม่มากนัก ล่าสุดมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 900-1,000 ล้านบาทส่งผลให้การค้าในรูปแบบข้ามแดนยังคงมีการเคลื่อนไหวตามปกติ

ศิริชัย คุณาบุตร นายด่านศุลกากรแม่สาย บอกว่า การนำเข้า-ส่งออกที่ด่านพรมแดนแม่สายนั้นยังคงเป็นปกติ ไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกับกรณีของนักท่องเที่ยว ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังพม่ายังคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมัน และอุปกรณ์ก่อสร้าง เนื่องจากพม่าอยู่ในช่วงของการพัฒนาประเทศ และไม่เพียงแต่ในจังหวัดท่าขี้เหล็กเท่านั้น แต่ในพื้นที่ชั้นในของประเทศก็กำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพ  สำหรับการนำเข้านั้น ทางด่านพรมแดนแม่สายจะนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้าทั่วไป

“การนำเข้า-ส่งออกของสินค้าทางด่านพรมแดนแม่สาย หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือด้านงบประมาณการคมนาคมกับฝั่งเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับทาง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่รัฐมีการช่วยเหลือด้านเส้นทางคมนาคมให้กับทางฝั่งพม่า ซึ่งจะทำให้การคมนาคมดีขึ้นกว่าเก่ามาก ปัจจุบันการเดินทางของสินค้าจากแม่สอดข้ามไปยังจังหวัดเมียวดี  ผ่านเมืองมะละแหม่งไปกระทั่งถึงย่างกุ้ง มีความรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก หลังจากการตัดถนนใหม่จะทำให้การส่งออกและนำเข้ากระเตื้องขึ้นอีกหลายเท่าตัว อีกทั้งขณะนี้ได้มีการเปิดสะพานมิตรภาพพม่า-ลาว หากการคมนาคมดีขึ้น จะช่วยลดระยะทางในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังพม่าในเมืองต่างๆ รวมถึงการเชื่อมต่อไปถึงจีนตอนใต้ได้อย่างดี” ศิริชัย กล่าว

ทั้งนี้ อ.แม่สาย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ร่วมกับ อ.เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาของพื้นที่ อ.แม่สาย คือ การเป็นเมืองการค้าชายแดนและเมืองท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงเมืองเชียงตุงในพม่าได้ ขณะที่ อ.เชียงแสน วางยุทธศาสตร์การเป็นเมืองขนส่งทางน้ำเชื่อมจีน ส่วน อ.เชียงของ จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้