posttoday

ข้ามฝั่งชม OTOP 2 แผ่นดิน เปิดประตูวัฒนธรรม‘ตาก-เมียวดี’

20 มีนาคม 2558

เศรษฐกิจชายแดนแม่สอด จ.ตาก เมืองคู่แฝด Sister City บ้านพี่เมืองน้องกับฝั่งเมียวดีของพม่ากำลังไปได้สวย

โดย...อัศวิน พินิจวงษ์

เศรษฐกิจชายแดนแม่สอด จ.ตาก เมืองคู่แฝด Sister City บ้านพี่เมืองน้องกับฝั่งเมียวดีของพม่ากำลังไปได้สวย นอกจากการลงทุนที่ขยายตัวทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองฝั่ง การค้าขายสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 นี้แล้ว มูลค่าการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี น่าจะขยายตัวถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผวจ.ตาก กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า และการเป็นบ้านพี่-เมืองน้อง เมืองคู่แฝด จึงร่วมกับนายอูหล่วยกัวอู ผวจ.เมียวดี ของพม่า อ.แม่สอด และเทศบาลนครแม่สอด ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด อาทิ ทีมงานที่ปรึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษพาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ภาคเอกชนสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า จัดงานเชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้า “OTOP  2 แผ่นดิน” โดยมี 2 จังหวัดชายแดน ตาก-เมียวดี บวก 1 คือ จ.อุทัยธานี ระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค.นี้ ที่สนามกีฬา จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า

“ในงานนอกจากจะมีสินค้าดีๆ จากฝีมือคนไทยและชาวพม่า เช่น น้ำพริกกุ้ง ผ้าทอชาวเขา หัตถกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ข้ามไปซื้อของและสินค้าแล้ว ยังจะได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของคนพม่า และไหว้พระวัดที่สวยงามด้วยศิลปวัฒนธรรมของพม่าที่สวยงามและมีเสน่ห์หลายแห่ง” พ่อเมืองตากกล่าว

ผู้ว่าฯ สมชัยฐ์ บอกอีกว่า การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นการรองรับจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด ซึ่งในอนาคตการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแม่สอด-เมียวดี จะมีเป็นเสมือนประตูอาเซียนบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจถนนสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor (EWEC)) ส่วนหนึ่งที่ต้องร่วมกันคือการเปิดประตูวัฒนธรรมอาเซียนในการเป็นเมืองคู่แฝด บ้านพี่เมืองน้อง Sister City แม่สอด-เมียวดี

กาารจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดประตูเชื่อมวัฒนธรรมของผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเมย ซึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือการค้า การลงทุนแล้ว การแลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิต ในพื้นที่ด้วยกัน จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองแผ่นดินให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น