posttoday

ทุ่ม3หมื่นล.ปั้นนิคมหนองคาย

13 กุมภาพันธ์ 2558

ทุ่ม 3 หมื่นล้าน ตั้งนิคมฯ หนองคาย รับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ทุ่ม 3 หมื่นล้าน ตั้งนิคมฯ หนองคาย รับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

นายพงศ์พันธ์ สุนทรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาคา คลีนเพาเวอร์ เปิดเผยหลังการ ลงนามจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหนองคาย กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า นิคมฯ หนองคายเป็นการร่วมลงทุนระหว่างนักลงทุนจีน 70% และไทย 30% แบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีเนื้อที่รวม 3 หมื่นไร่ โดยระยะที่ 1 มีเนื้อที่ 2,960 ไร่ งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ คาดว่าจะรองรับโรงงานได้ 50-60 แห่ง ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการแสดงความสนใจที่จะลงทุนแล้ว เช่น โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ รถบัสขนาดใหญ่ ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และจะเปิดดำเนินการในปี 2563

สำหรับระยะที่ 2 มีพื้นที่ 3,000 ไร่ งบลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท และระยะที่ 3 พื้นที่ 2.4 หมื่นไร่ งบลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท เน้นการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมบริการ เช่น โลจิสติกส์ คลังสินค้า โรงพยาบาล การท่องเที่ยว การเงิน คาดว่าจะเริ่มพัฒนาในปี 2559 และในอนาคตจะขยายไปถึงการสร้างเมืองใหม่ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่หนองคายและประเทศเพื่อนบ้านด้วย

"พื้นที่โครงการอยู่ติดทางรถไฟซึ่งสามารถจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และธุรกิจบริการด้านอื่นๆ ในอนาคต เนื่องจากที่ตั้งของนิคมฯหนองคายอยู่ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมลงทุนสูงสุด ดังนั้นจึงคาดว่าในพื้นที่นี้จะขยายเป็นเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน และการเปิดประชาคมอาเซียน" นายพงศ์พันธ์ กล่าว

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ในปี 2558 กนอ.มีแผนจะตั้งนิคมฯ ใหม่อีก 5 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่มียอดการตั้งนิคมฯ สูงถึง 9 แห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 1.5 หมื่นไร่ โดยพื้นที่เป้าหมายจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี และขอนแก่น ซึ่งแต่ละนิคมฯ จะเน้นให้ตรงกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น นิคมฯ แปรรูปสินค้าเกษตร หรือนิคมฯ บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเร่งส่งเสริมให้เกิดนิคมฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดร่วมกับ จ.นราธิวาส ออกแบบนิคมฯ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วน จ.ปัตตานี จะตั้งนิคมฯ อาหารฮาลาล เพื่อเชื่อมโยงกับมาเลเซีย ขณะที่ จ.ยะลา อยู่ระหว่างการเตรียมการ