posttoday

สินค้าเพื่อสุขภาพ โอกาสในเออีซี

11 สิงหาคม 2557

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก จึงทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีความต้องการและมีการเติบโตสูง

โดย...ปรียนิจ กุลตั้งเจริญ

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก จึงทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีความต้องการและมีการเติบโตสูง แต่ว่าการจะเข้าไปทำตลาดเพื่อนบ้านต้องศึกษาให้ดี เพื่อให้สินค้าไม่เป็นเพียงกระแสนิยมเท่านั้น

พิราวรรณ์ โชติอัครสมิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวนอิม ริชเช็สริช (ประเทศไทย) ผู้ผลิตสินค้าเยลลี่ผสมวิตามินยี่ห้อ “พีโอลิ” กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน ของไทย สินค้าเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่าง ต่อเนื่อง และเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) บริษัทก็มีความสนใจที่จะเข้าไปเจาะตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ส่งออกไปยังแคนาดา เกาหลี และไต้หวัน

ทว่า เบื้องต้นจะเป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเข้าไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย และลาว เนื่องจากบริษัทยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ในตลาดมากนัก

พิราวรรณ์ เล่าว่า หลังจากที่บริษัทได้ไปออกงานแสดงสินค้าในเวียดนามหลายครั้ง และได้รับผลตอบกลับจากลูกค้าเวียดนามค่อนข้างดี ทำให้มีผู้ติดต่อเข้ามาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยในเวียดนามเป็นตลาดที่ขายดีที่สุด เนื่องจากคนเวียดนามเป็นคนรุ่นใหม่ จบการศึกษาจากต่างประเทศมา จึงคุ้นเคยกับสินค้าแบบนี้ และคนมีกำลังซื้อ ซื้อสินค้าง่ายแม้จะมีราคาสูง

ทั้งนี้ การนำสินค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเข้าไปเปิดตลาดเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงต้องศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน เพราะตลาดแต่ละที่มี ความต่างกัน และต้องใช้เวลาในการให้ตลาดรู้จักและคุ้นเคยกับสินค้า

อย่างไรก็ดี บริษัทได้นำบทเรียนที่เกิดขึ้นกับตลาดในไทยมาปรับใช้เป็นบทเรียนในการทำตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการคิดค้นพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีความแปลกใหม่ออกมาในตลาด

ขณะที่การใช้บรรจุภัณฑ์ในแต่ละประเทศก็มีความต่างกัน เช่นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในตลาดต่างประเทศเป็นแบบกระปุก เมื่อนำมาใช้ในเมืองไทยกลับพบว่าทำให้สินค้าละลายจึงต้องปรับเป็นแบบซอง ทำให้ขนาดเล็กลงและราคาถูกลง ซึ่งจะสะดวกต่อการพกพา

ดังนั้น การนำสินค้าไปเจาะตลาดประเทศอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาทั้งด้าน กายภาพและพฤติกรรมของ ผู้บริโภค รวมถึงรสชาติให้ถูกปากกับผู้บริโภคท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้เหมาะสม

“บริษัทต้องการจะเข้าตลาดอาเซียนอย่างมั่นคง ทำให้ระหว่างนี้ต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้ดี ซึ่งไม่เกิน 2 ปีนี้น่าจะเข้าไปเปิดตลาดด้วยตัวเอง รวมถึงพัฒนาสินค้าประเภทใหม่เข้าไปด้วย” พิราวรรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านยังคงเป็นอุปสรรคปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า และต้นทุนค่าขนส่ง เพราะหากต้นทุนสูงจะทำราคาในตลาดค่อนข้างยาก ส่วนการขออนุญาตนำเข้าสินค้า การไป จดทะเบียนด้านอาหารและยาของแต่ละประเทศ บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายที่เป็นคนท้องถิ่นดูแลให้ จึงไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่

“เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าอยู่แล้ว แต่ขาดเงินทุนในการดำเนินกิจการ ทำให้ต้องเสียโอกาสไป จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามา สนับสนุนเงินทุนสำหรับเอสเอ็มอีน่าจะเป็นช่องทางในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสทำตลาดในอาเซียนมากขึ้น”พิราวรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย