posttoday

NLPดีอย่างไร

24 เมษายน 2557

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

NLP มาจากคำเต็มว่า Neuro Linguistic Programming คำว่า Neuro หมายถึงระบบประสาท เรารับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัส ข้อมูลบางส่วนถูกกรองออกไป ข้อมูลบางส่วนผ่านกระบวนการคิด จิตสำนึก และจิตใต้สำนึกของเรา ไปกระตุ้นให้ระบบประสาทหรือสมองทำงาน ก่อให้เกิดการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรม

คำว่า Linguistic ก็คือภาษาศาสตร์ NLP เชื่อว่า ถ้อยคำที่เราคิดและพูด มีผลต่อพฤติกรรมของเรา ส่วนคำว่า Programming หมายถึงวิธีหรือโครงสร้างการคิดของคนเรา

ในอดีตผู้บริหารและนักพัฒนาบุคลากรได้พยายามหาเครื่องมือเพื่อที่จะเพิ่มสมรรถนะในการสื่อสารและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสื่อสารของบุคลากร ที่ผ่านมามีวิธีการหลากหลายเกิดขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือ NLP ศาสตร์การสื่อสารแนว NLP นี้ถูกพัฒนามานานกว่า 20 ปี โดย ดร.ริชาร์ด แบนเลอร์ (Richard Bandler) ซึ่งเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์และนักคอมพิวเตอร์ กับ จอห์น กรินเดอร์ (John Grinder) นักภาษาศาสตร์ พวกเขาเริ่มจากการศึกษาเพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า กลุ่มคนที่ได้รับการ ยอมรับว่ามีความสำเร็จสูงในสายงานของตน สร้างความประทับใจให้เพื่อนฝูงและผู้อื่นในแบบฉบับของตนเอง และมีพฤติกรรมและวิธีการ ในการโน้มน้าวผู้อื่นได้ดีนั้น พวกเขามีคุณสมบัติอะไรที่เหมือนกัน

จากการศึกษานี้ พวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่คนเราสื่อสารนั้น ถึงแม้เรากำลังรับรู้เนื้อหาเดียวกัน แต่เรามีโครงสร้างการรับรู้และตอบสนองต่อ ภาพ เสียง และการสัมผัส ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ภาพ หมายถึง ตาดู (Visual) เสียง หมายถึง หูฟัง (Auditory) การสัมผัส หมายถึง ผิวกายสัมผัส ความรู้สึก (Kinesthetic) นั่นคือบางคนรับรู้และตอบสนองได้ดีกว่ากับภาพที่เห็น บางคนรับรู้และตอบสนองได้ดีกับเสียงที่ได้ยิน และบางคนเป็นด้านการสัมผัสและความรู้สึกมากกว่า

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้พบว่ากลุ่มคนที่มีความสำเร็จที่เขาศึกษา สามารถรับรู้และตอบสนองกับทั้งสามรูปแบบได้เท่าๆ กันในเวลาเดียวกัน และยังสามารถปรับจากรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่งได้รวดเร็วอีกด้วย ขณะที่กำลังคุยกับผู้อื่น พวกเขาปรับตัวได้เร็วราวกับเป็นกระจกสะท้อนอีกฝ่ายได้เลยทีเดียว จากการศึกษานี้ จึงได้มีการทำแบบประเมิน NLP ต่างๆ ตามมา เพื่อช่วยประเมินตัวตนของเราว่า มีโครงสร้างการรับรู้และตอบสนองแบบใด

ปัจจุบัน NLP เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการโค้ชเพื่อปรับพฤติกรรมของคนเรา โดยผ่านกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างความคิด จิตใจ ภาษาพูด และภาษากาย ที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์บางอย่าง เพื่อดึงไปสู่พฤติกรรมที่ผู้ได้รับการโค้ชต้องการปรับเปลี่ยน มีการนำ NLP มาประยุกต์ใช้ในการบริหารคน การศึกษา การตลาด นำมาพัฒนานักขาย นักบริการที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้า

ยกตัวอย่างการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริการ ลูกค้าบางท่าน มักใช้ คำว่า "ที่เคยเห็นมานะ ว่าเป็นแบบนี้และผมมองว่า" ในขณะที่บางคน มักติดคำพูดว่า "พี่ได้ยินมาว่า..." บางคนมักพูดว่า "ฉันรู้สึกว่า" เมื่อพูดคุยสักพัก หากเราใส่ใจฟังลูกค้าและสังเกตดีๆ จะพออ่านได้จากรูปแบบการสื่อสารของลูกค้าว่า การรับรู้และตอบสนองของเขามีแนวโน้มไปทางใด ทำให้เราปรับวาจา และท่าทาง เข้าหารูปแบบของลูกค้า เพื่อสร้างมิตรสัมพันธ์ และให้ผลลัพธ์ในการสื่อสารดีขึ้น