posttoday

คนพูดน้อยเป็นผู้นำได้ไหม?

27 มีนาคม 2557

หากผู้นำพูดน้อย ร่วมงานกับทีมที่เงียบและเฉื่อยชา ก็ควรปรับตัวเองให้กล้าพูดตรงไปตรงมาและสื่อสารให้บ่อยขึ้น

โดย...ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญต่อองค์กร ความหมายของผู้นำที่ดีจากต่างตำราก็ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าตำรานั้นอิงทฤษฎีที่มุ่งความสำคัญไปที่คุณลักษณะเฉพาะของผู้นำเองที่มีติดตัวมาแต่เกิด หรือพฤติกรรมของผู้นำ หรือสถานการณ์เป็นตัวกำหนดมากกว่าว่าเมื่อไหร่ต้องปรับการนำอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทุกๆ ค่ายวิชา ทั้งการศึกษาและหนังสือขายดีต่างๆ มักกล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่เหมือนกันในด้านความสามารถในการโน้มน้าว จูงใจ กระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาและทีมงานให้บรรลุผลลัพธ์ได้ โดยมีความสำเร็จขององค์กรเป็นเป้าหมาย

เนื่องจากการโน้มน้าวมักต้องใช้การสื่อสาร ที่ผ่านมาเราจึงมักมีมุมมองว่า ผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่เข้าสังคมเก่ง พูดเก่ง ชอบติดต่อสื่อสาร (Extrovert) ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้นำที่เป็นคนพูดน้อย เก็บตัว (Introvert) จึงเป็นที่มาของผู้บริหารที่มีคำถาม ว่า “ผมชอบทำงานนะครับ แต่พูดน้อย แถมพูดไม่เก่ง ไม่ชอบสังคม แล้วผมจะเป็นผู้นำที่ดีได้ไหม”

หากท่านเป็นผู้นำพูดน้อย ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ลองนึกถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จเช่น บิล เกตส์ สตีเวน สปีลเบิร์ก และผู้นำอีกมากที่พูดน้อย ต่างก็แสดงความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วทั้งนั้น

ฟรานเชสกา จีโน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Harvard Business School และทีม มีความสนใจเป็นพิเศษว่าผู้นำพูดน้อยจะมีประสิทธิผลได้หรือไม่และในสถานการณ์ใด จึงศึกษาเรื่องนี้โดยใช้ทั้งแบบสำรวจและวิจัยกับกลุ่มทดลองในห้องปฏิบัติการ

ได้คำตอบที่น่าสนใจคือ ผู้นำพูดน้อยที่ทำงานกับทีมที่กระตือรือร้นและคิดเชิงรุก (Proactive) เป็นทีมงานที่สร้างความสำเร็จได้ดีที่สุด ซึ่งได้ผลงานดีกว่าทีมที่มีผู้นำพูดเก่งที่ทำงานกับทีมกระตือรือร้นเสียอีก เธอพบว่า เมื่อทีมงานกระตือรือร้นและคิดเชิงรุก ทีมงานต้องการผู้นำที่รับฟัง พูดน้อยๆ ไม่ต้องแสดงความเห็นมาก

อย่างไรก็ตาม เธอได้ชี้ว่า หากผู้นำพูดน้อย ร่วมงานกับทีมที่เงียบและเฉื่อยชา ก็ควรปรับตัวเองให้กล้าพูดตรงไปตรงมาและสื่อสารให้บ่อยขึ้น อีกทั้งนำจุดแข็งที่ท่านมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การที่ท่านชอบฟังมากกว่าพูด ทำให้ท่านเป็นโค้ชให้กับลูกน้องได้ดี เพราะการดึงศักยภาพของลูกน้องออกมาให้ได้มากสุด มาจากการฟังอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ

การบริหารผู้นำ Introvert ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวเขาเองและองค์กรจึงไม่ควรมองข้ามว่ากลุ่มนี้จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มนี้พูดน้อยและวิเคราะห์เยอะ จึงควรบอกความต้องการในการสนทนาล่วงหน้าให้เขาได้มีเวลาวิเคราะห์มาก่อนแล้ว และในการปรึกษาหารือกันต้องถามเชิงบวกกระตุ้นให้เขาแสดงความคิดเห็นดีๆ ออกมา ในการถ่ายทอดความคิด ถ้าจำเป็นต้องเสริมทักษะการสื่อสารให้กระชับตรงประเด็น และโน้มน้าวผู้อื่นได้ดี เป็นเรื่องที่ฝึกอบรมกันได้โดยวิทยากรต้องเข้าใจลักษณะของ Introvert และเปิดโอกาสให้เขาใช้จุดแข็งของเขาในการสื่อสารเมื่อมีทักษะและความมั่นใจและรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องนำแบบใด ผลที่ออกมาอาจเป็น “Less is more” ก็ได้ จริงไหมค่ะ