posttoday

ขาดเธอไม่ขาดใจ รถไฟความเร็วสูง

19 มีนาคม 2557

วิจารณ์กันมากเหลือเกินว่า ถ้าประเทศไทยไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วละก็ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยจะแพ้หลายๆ ประเทศ

โดย....เกษมสันต์ วีระกุล  

วิจารณ์กันมากเหลือเกินว่า ถ้าประเทศไทยไม่ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วละก็ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยจะแพ้หลายๆ ประเทศที่เรากำลังต้องการแข่งขันกันอยู่ เข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงนะครับ

สถาบันที่เขาจัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เช่น สถาบันการจัดการนานาชาติ เวลาที่เขาพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานนั้น เขาหมายถึง 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น เช่น ถนน หนทางและรางรถไฟ 2.โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 3.โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ 4.โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม และ 5.โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา

เพราะฉะนั้นเวลาที่สถาบันนี้บอกว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับที่ 48 เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 59 ประเทศที่เขาคัดมาเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาแต่ดูแล้วมีอนาคตนั้น เขากำลังพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้านนะครับ

ถ้าดูลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะยิ่งตกใจไปใหญ่ครับ เพราะว่าในโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้านนั้น ด้านที่เมืองไทยได้คะแนนสูงสุดกลับกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นหรือถนนหนทางและรางรถไฟที่รัฐบาลกำลังจะพยายามลงทุนอีกกว่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างเพิ่มนั่นเอง โดยไทยเราได้อันดับดังนี้ครับ โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นได้ที่ 25 โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีได้ที่ 47 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ได้ที่ 40 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ที่ 55 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาได้ที่ 51

ชัดเลยนะครับว่าที่โครงสร้างพื้นฐานเราแย่นั้นเป็นเพราะเรื่องอะไรบ้าง นี่คือความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่เคยบอกกับเราเลย รัฐบาลบอกแค่ว่าโครงสร้างพื้นฐานเมืองไทยยังแย่กว่าประเทศอื่น ซึ่งก็จริง แต่รัฐบาลไม่ได้บอกว่าโครงสร้างพื้นฐานมีความหมายมากกว่าถนนหนทางและรางรถไฟ

แล้วรัฐบาลก็พยายามบอกพวกเราว่าการขนส่งด้วยรถไฟประหยัดพลังงานมากกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งก็จริง แต่รัฐบาลไม่ได้บอกความจริงอีกครึ่งหนึ่งว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ลงทุนสร้างทางหลวงเพื่อการขนส่งด้วยรถบรรทุกปีละเกือบๆ แสนล้านบาทนั้น มันเป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยเลือกแล้วที่จะทำให้ระบบทางหลวงเป็นหัวใจหลักเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งของประเทศไทย

ไปดูเถอะครับเวลาที่ฝรั่งมังค่าเขาวิเคราะห์ว่าเมืองไทยพร้อมจะเป็นจุดเชื่อมโยงให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เขาบอกว่าเพราะไทยเรามีทางหลวงที่สร้างสมบูรณ์แล้วเชื่อมโยงจากเหนือจรดใต้ จากตะวันออก จรดตะวันตกครับ

ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกพวกเราก็คือว่ารถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้น รวมเงินลงทุนราวๆ 7 แสนล้านบาทนั้น เป็นระบบรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งไปไม่สุดชายแดนเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านนะครับ มีเฉพาะสายเหนือที่วิ่งไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่ ซึ่งใกล้สุดกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ที่เหลือสายอีสานจบแค่โคราช สายตะวันออกจบแค่ระยอง สายใต้จบแค่หัวหิน เชื่อมกับประเทศไหนอย่างไรหรือครับ?
 
แล้วถ้าจะสร้างต่อเพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ครับ? ความจริงอีกครึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกเราคือค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจะแพงกว่าเครื่องบิน เช่น ค่าโดยสารจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่รัฐบาลแอบคำนวณไว้ว่าจะเก็บจากประชาชนก็คือ 1,862 บาทครับ

ใครอยากจะนั่งรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ซึ่งนานและแพงกว่าโลว์คอสต์แอร์ไลน์บ้างครับ? ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกเราก็คือ แม้ว่าจะเก็บ ค่าโดยสารแพงขนาดนั้นและต้องมีผู้โดยสาร 9 ล้านคนต่อปี มากกว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางขึ้นล่องเชียงใหม่ในปัจจุบันเกือบ 2 เท่านั้นน่ะ ค่าโดยสารที่เก็บได้ทั้งหมดยังไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของค่าลงทุนก่อสร้างเลยนะครับ คือขาดทุนตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว

ตอนหน้าผมจะมาบอกความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอกเราว่าประเทศอื่นๆ ที่ฉลาดกว่าและโกงน้อยกว่าเรานั้น เขาสร้างรถไฟความเร็วสูงกันอย่างไร?