posttoday

ส่องฐานผลิตอุตฯ รองเท้าอาเซียน

24 มกราคม 2557

เอ็กซ์เรย์แหล่งผลิตรองเท้า ก่อนย้ายลงทุนเพื่อนบ้าน

ปรียนิจ กุลตั้งเจริญ

อุตสาหกรรมรองเท้าไทย เป็นกลุ่มธุรกิจที่จำเป็นต้องออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกโดยการออกไปหาแหล่งผลิตต้นทุนถูก รวมถึงแหล่งการผลิตที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากตลาดหลักซึ่งแหล่งการผลิตที่มีศักยภาพเหล่านั้นอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

ชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย บอกว่า แนวโน้มการขยายการลงทุนของไทยมีแหล่งการผลิตใหญ่อยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยย้ายออกไปลงทุนประมาณ 3-4 ราย เพื่อไปใช้แรงงานราคาถูก และรับสิทธิประโยชน์จากนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป (อียู) โดยสินค้าเกือบ 99% ที่ผลิตจากประเทศเหล่านี้จะถูกส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา อียู และญี่ปุ่น

เมื่อแยกรายประเทศ พบว่า แต่ละประเทศเป็นฐานการผลิตรองเท้าที่แตกต่างกัน โดยประเทศกัมพูชาเป็นแหล่งการผลิตสินค้าในกลุ่มรองเท้ากีฬามากที่สุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์มาก เป็นประเทศที่มีแรงงานถูกที่สุด หากเทียบกันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการผลิตรองเท้าเป็นการผลิตในปริมาณมากๆ จึงคุ้มค่าต่อการลงทุน

แต่การเข้าไปลงทุนในกัมพูชานั้น ผู้ประกอบการอาจต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถึงต้องลงทุนฝึกอบรมแรงงานให้มีฝีมือเพียงพอ

นอกจากนี้ ทางกัมพูชาเองได้ขยายนิคมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่ในปอยเปตจนถึงพนมเปญและพระตะบอง ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่สะดวก

กรณีของประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็นการผลิตรองเท้าลำลอง และรองเท้าแตะหนังแท้ เนื่องจากคนในประเทศพม่าเองนิยมสวมใส่รองเท้าแตะอยู่แล้ว ทำให้มีตลาดภายในรองรับ จึงเป็นแรงจูงใจให้ผลิตรองเท้าแตะมากกว่ารองเท้าประเภทอื่น

ขณะที่ประเทศลาวเน้นการผลิตรองเท้าคัตชูหรือรองเท้าหุ้มส้น ซึ่งญี่ปุ่นชื่นชอบ เพราะคนลาวใช้ภาษาใกล้เคียงกับไทย โดยแต่เดิมญี่ปุ่นเคยมาลงทุนอยู่ในไทยมาก และได้เริ่มขยายการลงทุนออกไปยังประเทศลาวมากขึ้น

ส่วนประเทศอินโดนีเซียจัดว่าเป็นผู้ผลิตที่มีฝีมือไม่แพ้เมืองไทย มีอุตสาหกรรมต้นน้ำรองรับ และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ใหญ่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีเทคโนโลยีที่แบรนด์ใหญ่ๆ จากต่างประเทศได้วางรากฐานไว้นานแล้ว ความต่อเนื่องจึงยังมีอยู่ โดยโอกาสที่รายใหญ่จะขยายตัวในเวียดนามและอินโดนีเซียจึงมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การผลิตในอาเซียนยังจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศจีน เช่น เส้นด้าย เนื่องจากจีนมีการผลิตวัตถุดิบที่หลากหลาย เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบแหล่งใหญ่ของอาเซียน จีนจึงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน

“ในภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตรองเท้าหลักของโลก ซึ่งผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่มองเห็นถึงศักยภาพของอาเซียน โดยประเทศผู้ส่งออกรองเท้าหลักเป็นอันดับ 1 ได้แก่ จีน รองลงมาเป็นเวียดนาม” ชนินทร์ กล่าว

ทว่า การออกไปลงทุนในต่างประเทศยังมีข้อเสียอยู่ คือ การต้องลงทุนฝึกอบรมแรงงานให้มีฝีมือดี ซึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตส่วนใหญ่แรงงานยังต้องการการฝึกฝนอีกมาก การเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงในประเทศเหล่านี้ จึงต้องพิจารณาด้วยว่าฝีมือแรงงานสอดคล้องกับค่าแรงหรือไม่ ซึ่งหากให้ประเมินจะพบว่าแรงงานในพม่ามีฝีมือดี เพราะบางส่วนเคยทำงานอยู่ในเมืองไทย และมีประสบการณ์อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่แล้ว

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศล้วนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแรงงาน 200 คนขึ้นไป ขณะที่รายกลางที่มีโอกาสไปขยายการลงทุนในกลุ่มของผู้ผลิตส่วนประกอบรองเท้า

ส่วนผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าอยู่ในเมืองไทย ซึ่งอยู่ได้ด้วยการพยายามขยายตลาด ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เพราะตลาดในประเทศซบเซาไปมาก แต่บางรายที่อยู่ในเมืองไทยแล้วขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ทำตลาดแข่งขันไม่ได้ ก็คงต้องเลิกกิจการไป ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่คุ้มทุนกว่าการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะไม่มีความสามารถที่จะออกไปลงทุนได้