posttoday

ผุดโรงเรียนทวิ-พหุภาษารับอาเซียน

22 มกราคม 2557

เปิดแนวคิดโรงเรียนทวิ-พหุภาษา รับชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

แม้จะยังไม่ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว แต่ในหลายพื้นที่ หลายชุมชน ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนคนจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว พร้อมกับนำพาภาษาถิ่นของตัวเองเข้ามาด้วย หน่วยงานด้านการศึกษาจึงต้องเตรียมตัวรับมือเด็กรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการศึกษาและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเหมาะสม

กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บอกว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในไทยหลายพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นที่ติดมากับครอบครัวหรือชุมชนในพื้นที่เป็นภาษาหลักหรือภาษาแม่ แล้วใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงต้องพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาถิ่นเหล่านี้อาศัยอยู่ ให้กลายเป็นโรงเรียนทวิภาษาหรือโรงเรียนพหุภาษาตามความเหมาะสม

“จากการสำรวจของ สพฐ.ในพื้นที่เป้าหมาย 1,164 โรงเรียน พบว่า ปัจจุบันมีนักเรียนที่ใช้ภาษาถิ่นมากถึง 39 ภาษา รวมกว่า 1.9 แสนคน คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นคนอาเซียน ใช้ภาษาที่มาจากเพื่อนบ้าน หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็อาจมีคนกลุ่มนี้มากขึ้น ก็ต้องให้เขาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่นเดิม ถ้าเขารู้ได้มากกว่าภาษาถิ่นและภาษาแม่ ก็จะเป็นประโยชน์ในการไปต่อยอดสู่ประชาคมอาเซียน”

ปัจจุบัน สพฐ.ได้พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนใช้ภาษาถิ่นมากกว่า 50% เป็นโรงเรียนนำร่องทวิภาษา 11 แห่ง ใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.ภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ เชียงราย 2.ภาคกลางฝั่งตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี 3.ภาคตะวันออก พื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษากัมพูชาและเวียดนาม 4.ภาคใต้ พื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษามลายู ภายในปี 2557 จะขยายเพิ่มให้ได้เป็น 29 แห่ง และในปี 2560 จะขยายเป็น 1,600 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิม

ด้าน ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. บอกว่า การดำเนินการโรงเรียนทวิภาษา พบปัญหา 4 ด้าน คือ 1.ด้านบุคลากรครู ที่จำนวนหนึ่งไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ เมื่อสอนไประยะหนึ่งจึงต้องการโยกย้าย ขณะเดียวกันครูอัตราจ้างท้องถิ่นมีรายได้น้อย ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ 2.ด้านผู้ปกครองและชุมชน ที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเรียนแบบทวิภาษา เพราะรู้สึกว่าตนพูดภาษาถิ่นกับบุตรหลานอยู่แล้ว

3.ด้านการบริหารและงบประมาณ ยังขาดความต่อเนื่องและงบประมาณ และ 4.ด้านสังคมและวัฒนธรรม ยังขาดความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางความหลากหลาย

ทั้งนี้ มีมาตรการที่ต้องดำเนินการจัดการและแก้ไข 6 มาตรการ 1.ส่งเสริมการสอนภาษาท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามบริบทพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์ 2.ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นสื่อการเรียนการสอนร่วมกับภาษาไทย 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี 4.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ให้จัดหลักสูตรผลิตครูและฝึกอบรมครู 5.ให้มีครูทวิภาษา-พหุภาษาสอนตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษที่มีผู้พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ และ 6.จัดตั้งศูนย์กลางประสานงานกำกับและติดตามการดำเนินงาน

ขณะที่ โคทม อารียา กรรมการอำนวยการพัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษ เสนอแนะว่า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หากเราให้เด็กเรียนรู้อักษรโรมันได้ด้วยจะดีมาก เพราะจะสามารถติดต่อไปทางมลายูหรือมาเลเซียได้

ทั้งนี้ ความสำเร็จในการจัดทำโครงการทวิภาษาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเข้าใจของภาคชุมชนและผู้ปกครอง และต้องให้เขามาช่วยกันบริหารหลักสูตรเพิ่มขึ้น ครูอาจจะมาแล้วก็ย้ายไปสอนที่อื่น แต่คนในชุมชนคือผู้ที่จะอยู่ตลอดไป ดังนั้น หากชุมชนสนับสนุนจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การนำมาตรการ 6 ข้อไปปฏิบัติ ไม่ควรให้ครูเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ควรให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีบทบาทด้วย นอกจากนี้ไม่ควรจะแค่ระดับโรงเรียน แต่ต้องดูทั้งระดับเขตการศึกษา เพื่อให้ภาพรวมของพื้นที่ดีขึ้น