posttoday

สื่อสังคม-คนรุ่นใหม่จุดเปลี่ยนเลือกตั้งกัมพูชา

18 ธันวาคม 2556

ผลเลือกตั้งกัมพูชาล่าสุดออกมาแบบหักปากกาเซียนครั้งใหญ่ จำนวนที่นั่งในรัฐบาลลดลงอย่างน่าตกใจ

โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร

ผลการเลือกตั้งกัมพูชาครั้งล่าสุดออกมาแบบหักปากกาเซียนครั้งใหญ่ เพราะแม้ นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน จะยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่จำนวนที่นั่งในรัฐบาลก็ลดฮวบจนน่าตกใจ ขณะที่ประชาชนยังประท้วงอยู่เป็นระยะ ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตเลือกตั้ง

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถอดรหัสสิ่งที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมายครั้งนี้ โดย วัชรินทร์ ยงศิริ นักวิจัยอาวุโส นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ว่า การเลือกตั้งในเดือน ก.ค. ได้ส่งผลกระทบต่อพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของนายกฯ ฮุนเซน ที่ครองอำนาจมายาวนาน 15 ปี โดยได้คะแนนลดลง 22% แปรเป็นจำนวน ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 68 ที่นั่ง จากการเลือกตั้ง ปี 2551 ที่มี 90 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง

แม้พรรคซีพีพีจะยังได้จัดตั้งรัฐบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนถึงความไม่พอใจของประชาชนกัมพูชา ต่อพรรคและรัฐบาลฮุนเซน ที่ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและผู้ให้การสนับสนุน เช่น ให้สิทธิสัมปทานที่ดินแก่นายทุน ขณะที่ชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคอร์รัปชั่นมากมาย

รัฐบาลเพิ่งปรับคณะรัฐมนตรี โดยพยายามหา ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มาทำงาน เพราะต้องการเรียกคะแนนเสียงคืน แต่ขณะเดียวกันบรรดาผู้นำก็ยังต้องการรักษาอำนาจและพยายามโอนถ่ายอำนาจสู่ทายาท ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้เลย เช่น การเลื่อน "ฮุนมานี" ลูกชายนายกฯ ฮุนเซน นั่งเก้าอี้ สส. จังหวัดกำปงสะปือ แทน สส.ในพื้นที่ที่ดันไปนั่งตำแหน่งอื่น

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ สื่อมวลชน ที่ถูกรัฐบาลฮุนเซน ควบคุมมาตลอด และใช้การฟ้องร้องเป็นเครื่องมือสกัดการทำหน้าที่ แต่ปัจจุบันมีสื่อใหม่อย่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่รัฐควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ มีชาวกัมพูชาใช้สื่อใหม่นี้ติดตามการเลือกตั้ง 3.5 ล้านคน ซึ่งแม้สื่อใหม่จะมีประโยชน์ แต่ก็สร้างความก้าวร้าวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ มองว่า ขณะนี้ประเทศ ในอาเซียนกำลังเดินสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยทศวรรษจากนี้จะเป็นช่วงปรับระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเดิมกลุ่มอาเซียนยอมรับความหลากหลายของกันและกันที่ถือเป็นจุดแข็ง แต่กระแสของโลกกำลังเปลี่ยน ความหลากหลายจะค่อยๆ ลดลง เพราะช่องว่างทางการเมือง-เศรษฐกิจลดลง และจะเกิดความสอดคล้องต้องกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจะไม่ราบรื่นและต้องใช้เวลา นี่เป็นสิ่งที่เพื่อนบ้านต่างก็เผชิญ

เช่นเดียวกับกระบวนการประชาธิปไตยในกัมพูชาจะเดินไปข้างหน้า แต่ก็จะไม่ราบรื่น เห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ช็อกผู้คน รวมถึงนายกฯ ฮุนเซน ที่มั่นใจกับการเลือกตั้งมาก ถึงกับยอมให้ สม รังสี กลับบ้าน เพราะมั่นใจกับเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว และความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น

น่าสังเกตว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่คะแนนลด แต่เป็น การลดแบบหักมุม โดยมาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยแรก โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ที่อายุ 18-30 ปีมากถึง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเทรนด์นี้จะดำเนินต่อไป คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่ระบบเลือกตั้งเหล่านี้ไม่ได้เห็นยุคเขมรแดงที่โหดร้าย ยากลำบาก และไม่เคยเห็นความพยายามของ ฮุนเซน ที่พยายามฟื้นฟูประเทศ

สอง รูปแบบการขยายเมืองเปลี่ยน จากยุคเขมรแดงที่คนย้ายออกไปทำเกษตรในต่างจังหวัด แต่คน ยุคนี้ราว 1 ใน 4 อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นเขตที่นายกฯ ฮุนเซน ไม่ได้คะแนนเสียง หากเมืองขยายขึ้นก็จะส่งผลให้ฐานคะแนนลดลง

สาม เศรษฐกิจโตรวดเร็วและผู้คนเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น เป็นพลังใหม่ทางการเมือง และ ไม่เกื้อหนุนแนวทางของ ฮุนเซน

ปัจจัยสุดท้าย กัมพูชาเข้าสู่สังคมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้คนมีโทรศัพท์มือถือ 13 ล้านเครื่อง ส่วน 8 แสนคนมีเฟซบุ๊ก พลังของสังคมจะลดทอนการควบคุมของรัฐ

จากนี้ไปการตรวจสอบจากภาคประชาชนจะ เข้มข้นมากขึ้น การส่งผ่านอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจะทำได้ลำบาก ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องต่างๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยมีพื้นที่ สิ่งเหล่านี้จะบีบให้รัฐบาลกัมพูชาต้องปรับตัว