posttoday

สื่อบันเทิงเปิดตา-เชื่อมใจ

16 ธันวาคม 2556

การดูหนังทำให้เข้าใจคนไทยมากขึ้น เพราะสะท้อนภาพจริงของเมืองไทยที่เป็นอยู่ ทำให้คนเวียดนามรู้จักเมืองไทยมากขึ้น

โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร


สื่อบันเทิงเป็นพลังอำนาจแบบอ่อน (soft power) ที่ทรงอานุภาพ ทำให้ผู้คนเรียนรู้และเข้าใจกันได้ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา

หนุ่มเวียดนาม เจิ่น หว่าย นาม ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ สาขาการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาสนใจภาษาไทยเกิดขึ้นระหว่างไปเที่ยวเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีปี 2 เขาได้ยินไกด์พูดภาษาไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาเผ่าไตในเวียดนามที่เป็นบรรพบุรุษของตัวเอง รู้สึกเหมือนฟังภาษาของพี่น้อง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สนใจหาข้อมูล ดูหนังและฟังเพลงไทย 

นอกจากนี้ นาม มองว่า ภาษาอังกฤษมีคนเรียนมากแล้ว การแข่งขันเยอะมาก ขณะที่ภาษาไทยยังมีคนเรียนไม่มาก น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ประกอบกับรัฐบาลไทยให้ทุนเรียนภาษาไทยด้วย เมื่ออยู่ปี 3 จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาโท และสอบชิงทุนมาเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองไทย

หนังเรื่องแรกที่เปิดตาให้นามรู้จักเมืองไทย คือ รักแห่งสยาม และเขาชื่นชอบหนังไทยเพราะมีเนื้อหาชวนดู ครบรส ทั้งตลก ดราม่า สะท้อนว่าคนไทยมีความหลากหลาย มีอารมณ์ขัน ส่วนนักแสดงก็เล่นเป็นธรรมชาติเหมือนไม่ได้แสดง หน้าตาก็สวย-หล่อ ขณะที่หนังเวียดนามค่อนข้างน่าเบื่อ นักแสดงยังเล่นไม่เป็นธรรมชาติ ต้องพัฒนามากกว่านี้

ปัจจุบัน คนเวียดนามชอบฟังเพลงและดูหนังไทยมากขึ้น รวมทั้งติดตามข่าวสารบันเทิงของไทย มีหนังไทยเข้าฉายในเวียดนามมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทั้งแนวบู๊ หนังผี จนถึงหนังวัยรุ่น และมีซีรีส์ที่ดูผ่านเว็บยูทูบได้อย่างเรื่องฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ก็เป็นที่นิยมมาก โดยมีคนเวียดนามที่รู้ภาษาไทยแปลซับไตเติล แต่ละครไทยยังไม่มีให้ดูมากนัก

“การดูหนังทำให้เข้าใจคนไทยมากขึ้น เพราะสะท้อนภาพจริงของเมืองไทยที่เป็นอยู่ ทำให้คนเวียดนามรู้จักเมืองไทยมากขึ้น และหันมาสนใจเพื่อนบ้านใกล้ๆ แทนที่จะมองไกลไปที่ตะวันตกอย่างเดียว”

ระยะหลังๆ คนเวียดนามเริ่มสนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น เห็นได้จากในชั้นเรียนเคยมีนักศึกษา 30 คน เพิ่มเป็น 50-60 คน และตอนนี้มีมหาวิทยาลัยเวียดนามที่สอนภาษาไทยประมาณ 6 แห่ง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฮานอยกำลังจะเปิดคณะที่เน้นสอนภาษาอาเซียน เริ่มจากภาษาไทยเป็นภาษาแรก จากเดิมที่เป็นศูนย์เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นเรียนด้านสังคมและวัฒนธรรม

หนุ่มเวียดนามรายนี้ บอกว่า เมื่อมาเมืองไทยไม่มีภาวะช็อกเรื่องวัฒนธรรมมากนัก เพราะเคยเห็นจากสื่อบันเทิงต่างๆ รวมทั้งเคยมาอบรมและทัศนศึกษาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งก่อนจะเริ่มเรียนก็ต้องเตรียมความพร้อม 7 เดือน

หลังจากมาอยู่เมืองไทยได้ 2 ปี เขารู้สึกประทับใจคนไทยที่มีรอยยิ้มและมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่น รวมถึงชอบความสะดวกสบาย สามารถซื้ออาหารได้ตลอดเวลา และมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย แต่รถติดมาก

ส่วนความแตกต่างระหว่างไทยและเวียดนามก็มีหลายเรื่อง เช่น คนเวียดนามเริ่มเรียนเช้ามาก ประมาณ 7.15 น. แต่ไทยจะเริ่มเรียน 8.30 น. ซึ่งอาจเป็นเพราะคนเวียดนามต้องดิ้นรน เนื่องจากเงินเดือนน้อย เมื่อเรียนจบก็หางานยาก รวมทั้งคนเวียดนามไม่เคร่งเรื่องแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างพูดคุย หรือใช้เท้าเขี่ยของต่างๆ ผิดกับคนไทยที่ถือเรื่องเหล่านี้

สุดท้าย นามมองว่า การจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราต้องเปิดใจเรียนรู้กันและกัน เปิดเวทีให้นักศึกษาอาเซียนมาพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองกัน จะทำให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งที่เวียดนามยังไม่ค่อยเห็นความตื่นตัวเรื่องการรวมตัวของอาเซียนมากเหมือนเมืองไทย นับเป็นความคิดที่ดีที่ทำให้คนไทยอยากรู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น