posttoday

สมดุลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน

28 มกราคม 2565

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” โลกก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทุกมิติรวมถึงภาคเศรษฐกิจเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ต้องรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber threats) ที่โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ เจาะข้อมูลผู้ใช้บริการ ไปจนถึงการหลอกลวงรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นประเด็นเร่งด่วนที่อาเซียนให้ความสนใจ

อย่างไรก็ดี มาตรการของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นถือเป็นอุปสรรคทางเทคนิคที่สำคัญของการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศหากมาตรการดังกล่าวมีลักษณะกีดกันทางการค้าแอบแฝงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นการเฉพาะ ย่อมขัดต่อความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าขององค์การการค้าโลก (TBT) และหลักการของความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS)

ซึ่งอาเซียนยังขาดความตกลงที่กำหนดมาตรฐานกลางของมาตรการหรือกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จะทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อการค้าบริการดิจิทัลที่อยู่บนไซเบอร์สเปสซึ่งมีบริบทระหว่างประเทศและไม่มีพรมแดนเป็นข้อจำกัดการปฏิบัติตามมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แตกต่างกัน

ย่อมทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และสร้างความยุ่งยากอันเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างประเทศ จึงต้องมีการชั่งน้ำหนักและหาความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และหลักการค้าเสรีปฏิญญาประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Political-Security Community Blueprint 2025)

กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับภูมิภาคอาเซียน แต่ในอีกด้าน e-ASEAN Framework Agreement ก็มีประเด็นการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนดให้มีการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนด้าน ICT ภายในอาเซียน

ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องยกเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกให้เกิดการเติบโตทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยการออกกฎหมายและระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยไม่ขัดขวางการค้าเสรี ประเทศสมาชิกอาเซียนควรเลือกมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศน้อยที่สุด เช่น มาตรการ Security by design ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเลือกมาตรการทางเทคนิคที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดกับการให้บริการ

นอกจากนี้ ในการออกกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ภาครัฐควรระบุวัตถุประสงค์ว่าต้องการคุ้มครองอะไรเป็นสำคัญ มากกว่ากำหนดว่าผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะผู้ประกอบการมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการออกแบบการให้บริการดิจิทัลที่สร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามที่กฎหมายต้องการได้

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) https://www.itd.or.th/data-center/