posttoday

การสร้างสมดุลกฎระเบียบ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเยาวชนไทยสู่อาเซียน

21 มกราคม 2564

คอลัมน์ เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

UNCTAD ได้จัดทำกรอบนโยบายความเป็นผู้ประกอบการ โดยนำเสนอแนวทางปฏิบัติด้านนโยบายที่มีผลต่อการพัฒนาผู้ประกอบการในภาพรวม 6 มิติ ได้แก่ 1.การกำหนดกลยุทธ์ระดับชาติด้านความเป็นผู้ประกอบการ 2.การสร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ 3.การยกระดับการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาทักษะ 4. การอำนวยความสะดวกด้านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5. การปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงิน และ 6. การส่งเสริมความตระหนักและการสร้างเครือข่าย

ต่อมายังได้จัดทำแนวนโยบายว่าด้วยความเป็นผู้ประกอบการเยาวชน (Youth Entrepreneur) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการ สำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดล Thailand 4.0 มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจบนฐานมูลค่าหรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงให้ทำงานบทฐานนวัตกรรมมากขึ้น

รวมถึงสนับสนุนพัฒนาให้มีผู้ประกอบการ Start-up มากขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการไทย กฎระเบียบเป็นปัจจัยที่มีผลต่อตลาดและโอกาสของผู้ประกอบการการสร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบจึงเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติตามกรอบนโยบาย ด้านความเป็นผู้ประกอบการของ UNCTAD การลดกฎระเบียบส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การเพิ่มกฎระเบียบเป็นการเพิ่มต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบซึ่งไม่จูงใจผู้ประกอบการ

ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการมีอิสระทางธุรกิจอย่างพอดีและเอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบสัมพันธ์กับการยกระดับความสามารถในการประกอบการของผู้ประกอบการเยาวชนในระยะยาว

โดยเฉพาะการลดข้อจำกัดและภาระที่เกิดตามกฎระเบียบทางธุรกิจประเทศต่างๆทั่วโลกต่างมีวิธีการสร้างสมดุลของสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเยาวชนในรูปแบบที่หลากหลาย

ทั้งโครงการ ยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ ประเทศในอาเซียน

กรณีฟิลิปปินส์ มีกฎหมายว่าด้วยผู้ประกอบการเยาวชนโดยเฉพาะ คือ Youth Entrepreneurship Act 2015 มุ่งสอดแทรกและวางมาตรฐานความรู้เกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนผ่าน YouthEntrepreneurship and Financial Literacy Program มีมาตรการสนับสนุนทางการเงิน และมีมาตรการเพื่อเสริมสร้าง ให้ข้อมูล และบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนอีกด้วย

ภาพรวมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการหรือประกอบธุรกิจของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีความง่ายในการประกอบธุรกิจของ World Bank ซึ่งในปี 2560 ไทยอยู่ลำดับที่ 46 ปี 2561 ลำดับที่ 26 ต่อมาปี 2562 ไทยอยู่ในลำดับที่ 27 และในปี 2563 ไทยขยับขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 21

ในทางกฎหมายไทย บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม มิเช่นนั้นนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมสามารถให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น

และหากผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอม ผู้เยาว์สามารถร้องขอต่อศาลได้ โดยในการดำเนินการใดที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนี้ให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่หากผู้เยาว์ประกอบธุรกิจจนก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมได้

กฎหมายนี้ในด้านหนึ่งเป็นการคุ้มครองผู้เยาว์ แต่อีกด้านก็เป็อุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของผู้เยาว์ ลดความคล่องตัวและความเชื่อมั่นในการทำนิติกรรมกับผู้เยาว์ ทั้งยังสร้างขั้นตอนยุ่งยากในการประกอบการของผู้เยาว์มากกว่าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการหรือแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชนเพื่อให้เข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจ

ดังนั้น ไทยควรดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เพิ่มวาระการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามกรอบกฎหมาย

และเพิ่มเติมองค์ความรู้และทักษะทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ประกอบการเยาวชนเพื่อสร้างโอกาสการประกอบธุรกิจของนักธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการเยาวชน คว้าโอกาสสู่ตลาดอาเซียน

ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) www.itd.or.th