posttoday

บทบาท SMEs อาเซียนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

29 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในปัจจุบันไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมรายสินค้าต่าง ๆแต่ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วยกัน โดยเฉพาะกิจกรรมด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งช่วยให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีมาตรฐาน และแม่นยำ 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอาเซียนยังไม่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มากนัก

รายงานของ IATA ในปี 2560 กล่าวว่า กิจกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยเติบประมาณร้อยละ 7 ต่อปี และยังคาดการณ์อีกว่า กิจกรรมดังกล่าวนี้จะยังเติบโตต่อไปอีก 20 ปี ตามความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการมาตรฐานสูงในการขนส่งสินค้าภูมิภาคอาเซียน

โดยมีประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งได้รับการลงทุนด้านการตั้งคลังสินค้าจากกลุ่มธุรกิจอาลีบาบาของจีนย่อมเผชิญแนวโน้มการเติบโตในกิจกรรมการขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของกิจกรรมด้านอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค

โดยการขนส่งสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศสมาชิกภายในอาเซียน และระหว่างกลุ่มอาเซียนและจีน ถึงแม้อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอาเซียนขณะนี้ยังมีส่วนร่วมน้อยในอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากลักษณะของกิจกรรมบริการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง

ซึ่งเอื้อให้บริษัทรายใหญ่หรือหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่จะประกอบกิจกรรมได้ เช่น บริการซ่อมบำรุงอากาศยานจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ บริการเมืองท่าอากาศยาน และบริการฝึกอบรมบุคลากรขนส่งทางอากาศอ

ย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้องได้ ได้แก่ 1) ตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight Forwarder) ซึ่งหมายถึง ผู้อำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้า เช่น การรับจัดการและวางแผนขนส่งสินค้า การเป็นตัวแทนออกของ และบริการเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น การบรรจุหีบห่อสินค้า 2) บริษัทที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ (Logistics Consultant) ซึ่งหมายถึง ผู้ให้คำปรึกษา ผลิตซอฟต์แวร์และแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ส่งสินค้า (Shipper) ผู้ขนส่ง (Carrier) และผู้ให้บริการคลังสินค้า (Warehousing)

ในปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ที่มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินกิจกรรมด้านการเป็นตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight Forwarder) ในขณะที่ มีเพียงสิงคโปร์ ที่มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ดำเนินกิจการด้านการเป็นที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ (Logistics Consultant)

อย่างไรก็ตาม กิจการขนาดใหญ่ยังมีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ในทั้งสองบริการข้างต้นในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีจุดแข็งด้านการเข้าใจการให้บริการในพื้นที่และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ในขณะเดียวกัน วิสาหกิจรายย่อยก็ยังเผชิญการแข่งขันกับบริษัทใหญ่ ในแง่ว่ากิจการรายใหญ่อาจใช้บริษัทในเครือให้บริการขนส่งตลอดทั้งระบบ เพื่อรักษาความลับขององค์กร

อีกทั้งวิสาหกิจรายใหญ่ยังมีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี เงินลงทุน และเครือข่าย ดังนั้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงควรได้รับการสนับสนุนในด้านการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ การพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นสากล และการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งควรมีโครงการทุนพัฒนาศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการทำงานของ SMEs เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโครงการตัวอย่างที่ดำเนินงานแล้วในสิงคโปร์

นอกจากนี้ ในการเชื่อมโยง SMEs อาเซียนด้านโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน ทุกประเทศสมาชิกควรมีแนวคิดร่วมในการสร้างฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์และสร้างเวทีพบปะระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านโลจิสติกส์