posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (จบ)

13 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การระงับข้อพิพาทจากการศึกษาการประเมินปัญหาด้านทางการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นรวมถึงเสนอกลไกการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนและเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

การสร้างนวัตกรรมและความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง การยึดหลักธรรมมาภิบาล การส่งเสริมให้มีกฎระเบียบและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จะเน้นไปในด้านกฎหมายที่มารองรับหากเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้น ประกอบด้วย

? ระดับภูมิภาคเพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐนั้นอาเซียนได้มีการวางกฎเกณฑ์ในเรื่องของการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจอย่างสันติวิธีไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สอดรับกับกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยอ้างอิงจากหลักการระงับข้อพิพาทตามกรอบขององค์การการค้าโลก แต่ยังไม่ปรากฏการปรับใช้จริงให้เห็นเป็นรูปธรรม

? การระงับข้อพิพาทของเอกชนปัจจุบันหาได้ปรากฏความตกลงหรือสนธิสัญญาในระดับภูมิภาคของอาเซียนในเรื่องนี้แต่อย่างใดการระงับข้อพิพาทจึงขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายในของแต่ละประเทศตามหลักการ เคารพในอำนาจอธิปไตยของรัฐสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการระงับข้อพิพาทโดยทางศาล แต่กรณีของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการนั้น

โดยที่การอนุญาโตตุลาการเป็นที่ยอมรับในทุกประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศยังได้เข้าเป็นภาคี New YorkConvention 1958 อันส่งผลโดยตรงทำให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศสามารถได้รับการยอมรับและบังคับใช้ ทำให้สิทธิหน้าที่ของเอกชนคู่พิพาทในกระบวนการอนุญาโตตุลาการมีความมั่นคงแน่นอนในระดับหนึ่ง การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการนี้จึงควรได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือทางระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศสมาชิก

? การมีข้อพิพาทขึ้นและเข้ามาสู่กลไกในการเจรจาไกล่เกลี่ยกันนั้น เจ้าของสิทธิจะไปดำเนินการเองแต่หากเป็นกรณีสำคัญและเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรเข้าไปกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้าไปดำเนินการแต่เรื่องของการจ้างทนายความหรือการดำเนินการต่าง ๆ

เอกชนก็จะดำเนินการเอง แต่ในอาเซียนยังไม่มีการจัดตั้งหรือกำหนดว่า หากมีปัญหาการละเมิดจะให้หน่วยงานที่อาเซียนก่อตั้งเข้าไปดำเนินการ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานในลักษณะนี้

1. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของโลก

โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคการผลิตของภูมิภาคในการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกการพัฒนาตราสินค้าระดับภูมิภาค การจัดกิจกรรมส่งเสริมในพื้นที่ต่างๆ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกัน

ทั้งนี้ ข้อริเริ่มด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเน้นทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออก การลดผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้าและต้นทุนที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ โดยข้อเสนอแนะจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

ประกอบด้วย- การส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าด้านการเกษตร (Agricultural Value Chain) โดยเชื่อมโยงเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหารแปรรูป ประโยชน์จากการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าด้านการเกษตรไม่เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่อเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านสามารถส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร (ขั้นตอนการผลิตระดับต้นน้ำ) ส่วนขั้นตอนการผลิตระดับกลางน้ำ และปลายน้ำ การแปรรูป และการทำ Packaging ที่ประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิต

- การผลิตร่วมกัน (Co-production) สืบเนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV ได้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีเมื่อส่งออกไปประเทศในยุโรปและอเมริกา การผลิตร่วมกันโดยฝั่งไทยดำเนินการเพิ่มมูลค่าเท่านั้นและส่งออกที่แหลมฉบังไปยังประเทศผู้นำเข้าได้เลย ดังนั้น Co-production จึงสามารถทำให้การผลิตร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้

2. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการเสริมสร้างบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และรายย่อยให้แข็งแรง

อันเป็นประเด็นที่สำคัญต่อประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อก้าวสู่ระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออก ทั้งนี้

ข้อเสนอแนะจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ประกอบด้วย- ในด้านการศึกษาวิจัย กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรดำเนินการเปรียบเทียบกฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ และส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงแผนปฏิบัติการสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน ปี2559-2568 (The ASEAN Intellectual Property Rights Action Plan 2016-2025) ที่มีการกล่าวถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของการจดทะเบียนให้มีคุณภาพ ทั้งสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า ให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยมากขึ้น

- อุปสรรคในการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา คือ เรื่องของระยะเวลาดำเนินการที่ล่าช้า ซึ่งสิทธิบัตรที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาอีก 20,000-30,000 เรื่อง ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ถ้าจะให้สามารถทำได้หมดโดยไม่นับกรณีของใหม่ที่จะเข้ามา

กรณีของประเทศไทย มีปัญหาเรื่องของการตรวจสอบสิทธิบัตรใหม่ กล่าวคือ จะต้องมีสิทธิบัตรใหม่ ขณะที่ประเทศไทยมีความเข้มงวดมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

โดยกฎหมายบังคับให้คนที่ต้องการจดทะเบียนสิทธิบัตรต้องขึ้นศาล แต่ในบางประเทศสมาชิกมีมาตรฐานการดำเนินงานที่ต่างกันออกไป ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบรรทัดฐานที่แน่ชัด

- รัฐควรมีนโยบายผลักดันให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีการพัฒนา SMEs ในด้านต่าง ๆ มีการช่วยเหลือเรื่องการเข้าสู่ตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขนส่งสินค้า และการเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่อาเซียน โดยอาศัยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของโลก

เช่น การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมผ่านกองทุนด้านนวัตกรรมของหน่วยงานต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าไปทดลองตลาดในต่างประเทศและการจับคู่ธุรกิจทางการค้าซึ่งมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ การพัฒนาตัวแบบของห่วงโซ่มูลค่าของโลกในรายอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฯลฯ

-การปรับปรุงระเบียบและกฎหมายการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของ SMEs ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมแหล่งเงินทุนผ่านระบบธนาคารและกองทุน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเริ่มต้นให้ SMEs สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาเพิ่มความสามารถในการผลิตของ SMEs ด้วย