posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (5)

02 มกราคม 2563

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน การจัดตั้งคณะกรรมการชายแดนระหว่างประเทศในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกัน เช่น คณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งทุกประเทศมีคณะทำงานเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดน (Cross-Border Transport Facilitation Agreement: CBTA) หรือ ความตกลง CBTA

ทั้งนี้ การที่มีความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดน (CBTA) ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศต้องปฏิบัติตามความตกลง CBTA ทั้งหมดแต่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ได้ตกลงกันไว้

ตัวอย่างเช่น จะต้องนำกฎหมายภายในประเทศมาเปรียบเทียบกับสาระของความตกลง CBTA
และคณะทำงานต้องกำหนดลำดับกฎหมายที่หน่วยงานตัวเองกำกับอยู่ว่ามีข้อกฎหมายใดที่มีความขัดแย้งกับความตกลง CBTA เนื่องจากในความตกลง CBTA จะกำหนดไว้เฉพาะเขตระเบียงเศรษฐกิจตามเส้นทางที่มีได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ระเบียงเศรษฐกิจแนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ซึ่งในกรณีที่บางด่านไม่ได้อยู่ที่ Corridor

ซึ่งความตกลง CBTA ควรครอบคลุมถึงทุกด่านศุลกากรในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ใช่เฉพาะเพียงบางด่านศุลกากรเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้ผู้นำเข้าและส่งออกเกิดความสับสน ดังนั้น หากจะมีการใช้ความตกลง CBTA ก็ควรจะบังคับใช้กับทุกด่าน

การเพิ่มจุดตรวจค้นจุดเดียว (Single Stop Inspection: SI) หรือการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วม
(Common Control Area: CCA) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการขนส่งสินค้า คือ
ความแออัดบริเวณชายแดน ปัญหาเรื่องความล่าช้าของการตรวจสอบสินค้า การนำรถบรรทุกเข้า-ออก ระหว่างด่านพรมแดน อย่างไรก็ตาม

ข้อกำหนดนี้ใช้เฉพาะในความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ เท่านั้น ยังไม่ขยายไปใช้กับทุกประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่กรณีอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น

มาเลเซียจะส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว โดยใช้เส้นทางประเทศไทย ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียไม่มีข้อตกลงเรื่องการผ่านแดนสินค้าไว้ ต่างจากกรณีประเทศไทยกับ สปป.ลาว และหากจะอาศัยข้อตกลงการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วม (CCA) ก็มีปัญหา

เนื่องจากมาเลเซียไม่ได้อยู่ในกลุ่มความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นปัญหาที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องมีการเร่งการดำเนินการให้มีข้อตกลงร่วมนี้ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดประเด็นด้านพื้นที่ที่จะใช้เป็นบริเวณจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วม (CCA) เป็นอุปสรรคประการหนึ่งเนื่องจากความพร้อมของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน

รวมถึงกฎระเบียบบางประการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเจ้าพนักงานศุลกากรที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบร่วมกัน และการที่รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านมีนโยบายหรือมาตรการที่มีความแตกต่างกับประเทศไทย

โดยเฉพาะในการตรวจสินค้าบางประเภทอาจเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากการผ่านเข้ามาของสินค้าที่ผิดกฎหมายอาจเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องมีการเข้มงวดในการดำเนินการเป็นพิเศษ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การใช้ระบบการเพิ่มจุดตรวจค้นจุดเดียว (SSI) ควรมีหลักปฏิบัติดังนี

  1. การวางแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกฎหมายของแต่ละประเทศและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการใช้ระบบการเพิ่มจุดตรวจค้นจุดเดียว (SSI)
  2. การใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลก่อนเข้าด่าน (Pre-arrival Information) ร่วมกับระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยง
  3. การควบคุมร่วมและการดำเนินการไปพร้อมกันในระบบเดิมและระบบใหม่
  4. การให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเพื่อเป็นการเตรียมการและรับรู้ถึงปัญหาทางปฏิบัติ
  5. การยกระดับความสามารถในการดำเนินการผ่านผู้ปฏิบัติงานและใช้การฝึกอบรมแบบต่าง ๆ
  6. การกำกับผลการดำเนินงานให้เป็นปกติ

นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดการควบคุมหรือฟรีโซน (Free Zone) ให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปขายใน สปป.ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าสามารถดำเนินการได้เสมือนหนึ่งเป็นแผ่นดินไทย สปป.ลาว กัมพูชา หรือ เมียนมา ซึ่งจะจ้างรถของประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา เข้าไปดำเนินการก็ได้

โดยถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการของทั้งสองฝั่ง การส่งเสริมความรวดเร็วในการปรับตัวของภาคเอกชน โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐสื่อสารกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า และพิธีการทางเอกสารที่ต้องใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้ภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยในการสื่อสารอาจต้องมีลักษณะเป็นการสื่อสารสองทางที่ภาครัฐให้ข้อมูลกับภาคเอกชน และในทางกลับกัน ภาคเอกชนก็ต้องให้ข้อมูลกับภาครัฐ

กระบวนการดังกล่าวอาจดำเนินการผ่านสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคม ชมรมของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ประกอบการส่วนมากรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐควรมีศูนย์กลางที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆ และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการทราบ

รวมถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความตกลงระดับชาติ (National Agreement) และกฎระเบียบต่าง ๆ ดังนั้น หน่วยงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ไว้ให้ข้อมูล ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอทางด้านกฎหมาย ที่ต้องการพื้นที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

นอกจากนั้น มาตรฐานของด่านศุลกากรแต่ละแห่งควรมีความสอดคล้องกัน การใช้ระบบ Electronic Data Interchange (EDI) ที่ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลได้เอง จะทำให้กระบวนการทำงานเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น