posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (4)

13 ธันวาคม 2562

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

www.itd.or.th

การพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาบุคลากรถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้การอำนวยความสะดวกทางการค้าเกิดได้จริง

การพัฒนาบุคลากรควรมีการจัดการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ กฎระเบียบและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อสร้างความชัดเจนแน่นอนในการวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นบุคคลที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจตัดสิน ซึ่งในหลายกรณีอาจจะต้องมีการทำคู่มือแนวทางการพิจารณาให้แก่เอกชนและประชาชนได้รับทราบด้วย

ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้สอดรับกับหลักการอำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมทั้งต้องมีการจัดอบรมการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาต่างประเทศและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อส่งเสริมการสื่อสารกับผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติ

นอกจากการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่แล้ว รัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้ากับภาคเอกชนที่ไม่เฉพาะแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ต้องรวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมประชาชน รวมถึงการทำงานกับนักวิชาการและสถาบันการศึกษาด้วย

  • การใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน แผนการดำเนินงานด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศไทย ควรมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะได้รับการนำมาบรรจุในฐานข้อมูลของศุลกากรเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ทุกหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
  • กรมศุลกากรกับกระทรวงอุตสาหกรรม (เช่น สมอ.) กรมศุลกากรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เช่น กรมวิชาการเกษตรฯ กรมประมง) ฯลฯ ส่งผลให้ภาคเอกชนยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาคเอกชนยังคงต้องไปขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ก่อนนำมายื่นต่อกรมศุลกากรตามระบบเดิม

ดังนั้น ภาครัฐควรพัฒนาให้เกิดการใช้แบบฟอร์มเดียวกันให้สามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งเอกสารรับรองที่เกี่ยวข้องกลับมาที่กรมศุลกากร และให้กรมศุลกากรสามารถอนุมัติใบขนสินค้าให้

โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางไปติดต่อกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถือเป็นการช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินธุรกรรมของผู้ประกอบการ

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งรัดให้เกิดการจัดระบบศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวอย่างเต็มรูปแบบ และการใช้แบบฟอร์มเดียวกันอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ รัฐบาลควรตั้งหน่วยงานใหม่สำหรับการดำเนินการระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window: NSW) เช่น การให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเจ้าภาพ

โดยหน่วยงานใหม่นี้จะรับผิดชอบด้านการบริหาร การวางแผน การประสานงาน การพัฒนาระบบและการบำรุงรักษาระบบให้เชื่อมโยงถึงภาคเอกชน และเพื่อทันต่อเทคโนโลยีอุบัติใหม่ในอนาคต รูปแบบการทำงานให้มีกฎหมายรับรอง

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศ ให้มีความเชื่อมโยงของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น พัฒนามาตรฐานรูปแบบเอกสารที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม
    เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมด้านเอกสารให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของระบบดังกล่าว
  • การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน ถือเป็นประเด็นเชิงนโยบายในระยะปานกลางถึงระยะยาว เนื่องจากระบบการดำเนินการและความพร้อมของแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน ขณะที่ในระยะสั้น ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายให้เกิดการพัฒนากับกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ กลุ่มประเทศ CLMV ให้มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์เมื่อใด
  • การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (NSW) จำเป็นต้องให้รูปแบบของเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสามารถเชื่อมกับระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับนานาชาติได้ด้วยการใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ไม่ใช่เป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะหน่วยงานภายในประเทศเท่านั้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศอื่น ๆ ได้ และสามารถลดเวลาการดำเนินงานรวมถึงเป็นการสร้างระบบกลไกป้องกันความเสี่ยงให้กับการค้าระหว่างประเทศ