posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (3)

05 ธันวาคม 2562

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

การบัญญัติกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าเฉพาะ

การอำนวยความสะดวกทางการค้ามีความเกี่ยวข้องกับกิจการ กฎหมาย และหน่วยงานหลายส่วน ซึ่งในกิจกรรมบางอย่างสามารถกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบได้อย่างชัดเจน แต่ในกิจการบางอย่างอาจมีความก้ำกึ่งกันว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้เหมาะสมที่จะรับผิดชอบ เช่น การจัดการระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน

ซึ่งปัจจุบัน กรมศุลกากร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่ในการบังคับบัญชาหน่วยงานอื่นให้ต้องดำเนินการส่งข้อมูล หรือเชื่อมต่อข้อมูล หรือใช้ระบบปฏิบัติการฐานข้อมูลเดียวกันได้

จากตัวอย่างปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดหลักการสำคัญอำนาจของคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้า วิธีการดำเนินการของหน่วยงานการบริหารจัดการงานระหว่างหน่วยงานรัฐภายในและหน่วยงานระหว่างประเทศ

รวมทั้งกำหนดกิจกรรมสำหรับองค์กรที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายนี้ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การจัดการระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่อาจต้องเกี่ยวข้องกับการค้าเพื่อการประสานการทำงานร่วมกัน ดังนั้น การเสนอให้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไป

การยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและสร้างอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการและประชาชนเกินความจำเป็น

การจะดำเนินการเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เป็นผลรูปธรรมที่ชัดเจน จะต้องแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในอีกหลายด้าน เช่น กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการดำเนินการจัดการปฏิรูปกฎหมายที่ก่อให้เกิดอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการไทยและดำเนินธุรกิจของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัย ประเมินว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลของกฎหมายที่ถือว่าเป็นอุปสรรคนั้นอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายที่สัมฤทธิ์ผล และประเทศไทยควรถือโอกาสนี้สื่อสารและแสดงให้ประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียนรับทราบ เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือทางด้านกฎหมายและการประสานกฎหมายต่อไปในภูมิภาค

นอกจากนี้ มีความเห็นว่าในกรณีที่มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ เช่น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ควรต้องรีบผลักดันให้มีการออกอนุบัญญัติหรือกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่กำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติหรืออย่างน้อยกำหนดกรอบระยะเวลาในการประกาศใช้อนุบัญญัติเพื่อให้กฎหมายนั้นมีผลอย่างแท้จริง

การพัฒนากระบวนการนิติบัญญัติให้มีความโปร่งใสและสอดคล้องกับแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้กำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นกระบวนการร่างกฎหมายตามหลักการสากลที่ดี

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะได้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการร่างกฎเกณฑ์ตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้รับทราบความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านและทันการณ์

ดังนั้น ในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าควรมีตัวแทนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มากขึ้น

อีกทั้งควรมีการกำหนดระยะเวลาสำหรับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายที่มีการศึกษาว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ

และควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายในรูปแบบที่ให้มีผลใช้บังคับทันทีในส่วนการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชน ตามที่ยังคงปรากฏว่าเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยทั่วไปจะมีการให้ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น

แต่การค้นหาข้อมูลเชิงลึก อาทิ กฎเกณฑ์ กฎหมาย คำสั่ง หรือ ตัวอย่างคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอยู่ในรูปแบบของลิงก์ที่ไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ หรืออาจไม่มีการให้รายละเอียดข้อมูลดังกล่าว อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ความครบถ้วนและภาระของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ารูปแบบการนำเสนอข้อมูลมีวิธีการเสนอที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงเว็บไซต์ของคลังข้อมูลการค้าอาเซียน (ATR) ให้เป็นเว็บไซต์หลัก

พร้อมกับลดจำนวนเว็บไซต์อื่นและกำหนดรูปแบบของเว็บไซต์ของแต่ละประเทศให้มีรูปแบบเหมือนกันในทุกประเทศ โดยกำหนดให้มีการเผยแพร่เอกสารที่เป็นรายละเอียดที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบถ้วน