posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (2)

28 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ผลการศึกษามาตรการและกลไกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภายในประเทศอาเซียนพบว่า แต่ละประเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความสอดคล้องทันสมัยและเป็นไปตามหลักการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น

โดยมุ่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากรที่นำหลักการในสนธิสัญญาเกียวโตมาใช้ หรือ การออกกฎเกณฑ์เพื่อมารับรองเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายบางเรื่องที่ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขของการใช้กฎหมายนั้นเพื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เป็นผลทำให้ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายรับรองแต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง

อีกทั้งยังคงปรากฏว่ามีกฎหมายอีกจำนวนมากที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งยังคงสร้างภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนเกินความจำเป็น

ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ได้มีการปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมายให้เกิดความโปร่งใสด้วยการเพิ่มขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎหมาย

โดยกำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์เป็นไปตามหลักการสากลที่ดี ประกอบกับมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่กฎหมายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามกรอบความตกลงของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม พบว่าเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยทั่วไปจะมีการให้ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น แต่การค้นหาข้อมูลเชิงลึก อาทิ กฎเกณฑ์ กฎหมาย คำสั่ง หรือตัวอย่างคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอยู่ในรูปแบบของลิงก์ที่ไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ อาจไม่มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน

ไม่มีการแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ระบุให้ทราบถึงความทันสมัยของข้อมูล รวมถึงมิได้มีการคำนึงถึงระยะเวลาในการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนสินค้าหรือวิธีการดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายใหม่

นอกจากนั้น ทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือ ผู้ประกอบการยังคงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกหรือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า จากหลายสาเหตุด้วยกัน

อาทิ กฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางเรื่องยังคงมีความไม่ชัดเจน หรือ ในบางประเด็นเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน

หรือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ระดับอนุบัญญัติที่กำหนดวิธีดำเนินการปฏิบัติ รวมถึงแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับภายในประเทศหรือในระดับภูมิภาค

ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่แน่ใจหรือเลือกที่จะปฏิบัติอย่างที่เคยทำมาเพื่อป้องกันปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบกระดาษที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามทำงานของภาครัฐที่ยังคงจำกัด และการขาดโอกาสที่เพียงพอของภาคเอกชนและภาคประชาชนที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
หรือ กำหนดหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น การผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความตกลงและกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้ต้องมีการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

การจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก หรือองค์การศุลกากรโลก

กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าระดับชาติ

อีกทั้งในกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ATFF) กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วม (The ASEAN Trade Facilitation Joint Consultative Committee: ATF-JCC)

ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านที่สามารถมีอำนาจในการดำเนินการกำหนดนโยบาย และผลักดันให้นโยบายและการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นรูปธรรมได้จริงนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น เนื่องจากการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีความเกี่ยวพันกับงานในหลายด้าน

การจัดตั้งคณะกรรมการและรูปแบบการดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ปัจจุบันองค์การการค้าโลกได้ให้ความสำคัญกับดำเนินการในด้านนี้ และได้มีจัดทำเอกสารเผยแพร่ให้ข้อมูลแก่ประเทศสมาชิกเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการทำงานที่ดีอันควรเอาเป็นตัวอย่างไว้ในคู่มือที่เรียกว่า “National Committees on Trade Facilitation: current practices and challenges”

เอกสารฉบับนี้มีเนื้อหาที่อธิบายถึง หน้าที่กรรมการ การตั้งกรรมการ องค์ประกอบของกรรมการ การจัดตั้งรูปแบบองค์กรและหน่วยงาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและบทบาทหน้าที่ของประธานกรรมการ

รวมทั้งมีการกล่าวถึงประสบการณ์ของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นข้อมูลขององค์การค้าโลกนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ที่ประเทศไทยรวมทั้งประเทศสมาชิกอื่น ๆ

ควรนำมาศึกษาเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีศักยภาพในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

แม้ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้วก็ตาม แต่คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานและมีองค์ประกอบของกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการด้านนี้เป็นไปด้วยความมีเอกภาพและมีประสิทธิผลตามแนวคิดขององค์การการค้าโลก จึงควรจะมีการประเมินการทำงานของคณะกรรมการเพื่อประโยชน์ในการกำหนดวิธีการทำงานต่อไป

และควรจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการหรือจัดตั้งสำนักงานเฉพาะให้ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วม (ATF-JCC) ควรมีบทบาทสำคัญในการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการและการทำงานของคณะกรรมการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าระดับชาติของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ