posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (1)

21 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะอีก 10 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพของมาตรการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวทางการรับมือต่อประเด็นความท้าทายใหม่ที่อาเซียนอาจเผชิญในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

โดยครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 5 ด้าน ดังนี้

1. เศรษฐกิจที่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงในระดับสูง

2. มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต

3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวรายสาขา

4. ความสามารถในการปรับตัวครอบคลุมทุกภาคส่วนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

5. การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

ทั้ง 5 ประเด็นเป็นความท้าทายของอาเซียนในการส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุน และบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่สูงขึ้น การยกระดับค่าครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกื้อหนุนกันอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลกบนพื้นฐานของการสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกันและการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต การใช้ประโยชน์ความตกลงและกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ

เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนและขับเคลื่อนการดำเนินการ การยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนในอาเซียน และเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน

โดยมีหลักการพื้นฐานร่วมกันของแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย การอำนวยความสะดวกทางการค้า ประกอบด้วย หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักการทำให้ง่าย
(Simplification) หลักการทำให้ทันสมัย (Modernization) หลักการประสานกัน (Harmonization) และ หลักการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance)

ปัจจุบันประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ลงนามในความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าจำนวนมากทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

อันรวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่บัญญัติโดยองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะ เช่น องค์การศุลกากรโลก หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย โดยในส่วนขององค์การการค้าโลกได้กำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะ คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA) อันเป็นที่มากรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Facilitation Framework: ATFF)

จึงส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎเกณฑ์สำคัญให้สอดคล้องกับหลักการความตกลงระหว่างประเทศที่ได้มีการกำหนดขึ้นใหม่ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ได้จากการที่ประเด็นดังกล่าวได้รับการกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ และ มีการกำหนดนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นการเฉพาะ

รวมทั้งได้มีการจัดตั้งหรืออยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านหรือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยตรง

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อทำหน้าที่ประสานกับองค์การการค้าโลกและอาเซียน รวมทั้งหน่วยงานระดับชาติอื่นๆ ในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยถือเป็นคณะกรรมการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งชาติ (National Committee on Trade facilitation: NCTF) ตามบทบัญญัติในความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก

โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน