posttoday

อุตสาหกรรมการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

12 กันยายน 2562

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)   www.itd.or.th

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)   www.itd.or.th

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 11 ประเทศ มีประชากรทั้งหมด 639,892,653 คน โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 40.81 ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความถี่ของเที่ยวบินขาออกมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีจำนวนเที่ยวบินขาออก 59,535 เที่ยวบิน รองจากภูมิภาคอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และยุโรปตะวันตก ตามลำดับ

โดยท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุด คือ ท่าอากาศยานนานาชาติจาการ์ตา ซูการ์โน-ฮัตตา มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 64 ล้านคน ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทยมีจำนวนผู้โดยสารมากเป็นอันดับ 3 ใกล้เคียงกับท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ที่มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 48 ล้านคน จุดหมายการเดินทางส่วนใหญ่เป็นการเดินทางภายในภูมิภาคอาเซียน มีการคาดการณ์ว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560-2579) อุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี

เมื่อพิจารณาเป็นรายเส้นทางบินพบว่า การบินภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีสัดส่วนสูงที่สุดถึงร้อยละ 33 ของปริมาณการจราจรทางอากาศทั้งหมดในภูมิภาค รองลงมาเป็นเส้นทางบินระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของปริมาณการจราจรทางอากาศทั้งหมดในภูมิภาค

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการขยายตัวของปริมาณการจราจรทางอากาศเร็วมากที่สุดของโลก โดยเฉพาะท่าอากาศยานในเวียดนาม ที่มีการเติบโตมากที่สุดใน 10 อันดับแรกของโลก ทั้งทางด้านผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550-2560) ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ต เมืองโฮจิมินห์ ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.3 ต่อปี

ขณะที่ท่าอากาศยานโหน่ยบ่าย เมืองฮานอย มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 19.1 ต่อปี ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศมีศักยภาพในการรองรับการจราจรทางอากาศเชิงพาณิชย์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสิงคโปร์ สามารถรองรับการจราจรทางอากาศเชิงพาณิชย์ได้ถึง 587 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีขีดความสามารถเป็นรองแค่ฮ่องกงเท่านั้น ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ ไทย และมาเลเซีย ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาขีดความสามารถของท่าอากาศยานแต่ละประเทศในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินในปัจจุบัน พบว่า ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์และท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ปัจจุบันยังสามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นได้ กรณีของไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบันมีการรองรับปริมาณผู้โดยสารเต็มขีดความสามารถแล้ว

การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นมีความสัมพันธ์กับปริมาณผู้โดยสารทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารจะเติบโตตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจราว 2 เท่า ซึ่งการเดินทางที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุจากทั้งความต้องการในการเดินทางเพื่อทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และความต้องการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวจากกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางที่มีทั้งจำนวนและกำลังซื้อที่มากขึ้น

รวมทั้งผลจากการเปิดเสรีทางการบินเพื่อการเป็นการบินตลาดเดียวของภูมิภาค (ASEAN Single Aviation market: ASAM) ที่ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการขยายฝูงบินมากกว่าเท่าตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อเปิดให้บริการในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น

แม้ว่าท่าอากาศยานในประเทศของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทยส่วนใหญ่มีขีดความสามารถค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าของประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่า การเติบโตของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในรอบสิบปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยต่างมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉลี่ย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในอนาคตได้เป็นอย่างดี