posttoday

ไทยเสนอมาตรการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อแทน IHQ เดิม

07 เมษายน 2562

คอลัมน์ "ครบคิดพิชิตเออีซี"

คอลัมน์ "ครบคิดพิชิตเออีซี"

โดย คุณเบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

สืบเนื่องมาจากการที่ไทยตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ทำให้ไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องมาตรการภาษีที่ถูกจัดเป็นมาตรการภาษีที่เป็นภัยและอาจทำให้ไทยถูกตอบโต้ภายใต้หนึ่งในมาตรการของ BEPS คือการตอบโต้มาตรการภาษีที่เป็นภัย (Harmful Tax Practices) ซึ่งมาตรการที่เกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ อันได้แก่ Regional Operating Headquarters (ROH), International Headquarters (IHQ), International Trading Center (ITC) ของไทยนั้นจัดเป็นมาตรการภาษีที่เป็นภัย ด้วยเหตุนี้ไทยจึงได้ยุติการรับจดแจ้ง ROH,IHQและ ITC รายใหม่มาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2561 และต่อมาปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ของมาตรการที่เกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ โดยให้มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2562

ผลจากการยกเลิกจะทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ ROH, IHQ และ ITC ได้รับอยู่สิ้นสุดลง อย่างไรก็ดีรัฐบาลได้มีการนำเสนอมาตรการใหม่เพื่อทดแทน คือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ International Business Centre (IBC) ทั้งนี้การยกเลิกมาตรการ ROH, IHQ และ ITC รวมถึงการเสนอมาตรการ IBC ใหม่เป็นความพยายามของไทยที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการให้ความร่วมมือแก่นานาประเทศเพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างโปรงใสและให้เป็นไปตามมาตรการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร เงื่อนไขที่สำคัญในการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างระหว่างมาตรการเก่าและใหม่ คือเดิมค่าใช้จ่ายในประเทศขั้นต่ำของ ROH, IHQ และ ITC อยู่ที่ 15 ล้านบาท ภายใต้ IBC ขั้นต่ำของค่าใช้จ่ายในประเทศอยู่ที่ 60 ล้านบาทซึ่งการเพิ่มค่าใช้จ่ายจะเป็นการพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นว่ากิจการมีการประกอบกิจการในประเทศอย่างมีสาระสำคัญ

และอีกเงื่อนไขหนึ่งในการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไม่มีในมาตรการเดิมคือ IBC จะต้องมีพนักงานประจำที่มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับ IBC ไม่น้อยกว่า 10 คน เว้นแต่กรณีที่ IBC มีการให้บริการเฉพาะการให้บริการด้านบริหารการเงิน อาจมีน้อยกว่า 10 คนแต่ไม่น้อยกว่า 5 คน ในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้จากการเป็น IBCนั้นจะแตกต่างจากมาตรการเดิมอย่างมีสาระสำคัญได้แก่ จะไม่มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการให้บริการหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ และ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ เหลือร้อยละ 8 หรือ 5 หรือ 3 ของกำไรสุทธิตามรายจ่ายในประเทศ 60 ล้านบาท หรือ 300 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาทแล้วแต่กรณี ซึ่งจะเห็นว่าการลดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายในประเทศ

กล่าวคือ ยิ่งมีค่าใช้จ่ายในประเทศมาก ก็จะยิ่งได้ลดอัตราภาษีมากขึ้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ยังเหมือนมาตรการเดิมคือยกเว้นภาษีเงินปันผล ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือในประเทศและในต่างประเทศ รวมถึงลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IBC เหลือร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หายไปเดิม IHQ ได้รับยกเว้นภาษีที่เกี่ยวกับกำไรจากการขายหุ้น แต่ IBC ไม่มีสิทธิประโยชน์เรื่องการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้นแต่อย่างใด ในเรื่องของบริการไม่ได้แตกต่างจาก IHQ เดิม บริการของ IBC ยังคงรวมถึงการให้บริการสนับสนุน การให้บริการบริหารการเงิน และ กิจการค้าระหว่างประเทศ(ITC)

แต่ที่แตกต่างจาก IHQ อย่างมากคือแม้ว่าITC จะเป็นบริการภายใต้ IBC แต่นิยามรายได้ IBC ที่ได้สิทธิทางภาษีไม่รวมถึงรายได้จาก ITC นั่นหมายความว่า กิจการ ITC ภายใต้ IBC จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีใดๆ เว้นแต่การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานให้ ITC ภายใต้ IBC ที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินของคนต่างด้าวดังกล่าว ดังนั้นผู้ประกอบการ ITC เดิมหากยังต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบุคคลธรรมดายังคงต้องขอจดเป็น IBC และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดด้วย

สำหรับ ROH,IHQและ ITC ปัจจุบัน จะสามารถขอจดเปลี่ยนเป็น IBC หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรการ IBC โดยต้องแจ้งความจำนงขอจดทะเบียนเป็น IBC ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ซึ่งข้อดีก็คือจะไม่ต้องทำจัดทำและนำส่งเอกสารเกี่ยวกับแผนการธุรกิจใหม่ และยังได้รับสิทธิให้คงอัตราค่าใช้จ่ายในประเทศขั้นต่ำไว้ที่ 15 ล้านบาทตลอดระยะเวลาของ IBC

อนึ่งอัตราภาษีที่จะได้ คือ ร้อยละ 8 เว้นแต่ว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาทเพื่อให้ได้สิทธิอัตราภาษีที่ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ หาก ROH,IHQ และ ITC เดิมแสดงความจำนงขอจดแจ้งเป็น IBC หลังวันที่ 1 มิถุนายน 2562 จะถือเป็นการขอจดแจ้งใหม่ ไม่ใช่การขอเปลี่ยนจากมาตรการเดิมมาเป็น IBC ซึ่งจะมีผลทำให้ ต้องจัดเตรียมเอกสารเพื่อขอจดแจ้งเช่นเดียวกับการขอจดของรายใหม่ และจะไม่ได้สิทธิในการคงค่าใช้จ่ายขั้นต่ำไว้ที่ 15 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่อยู่ในมาตรการปัจจุบัน ควรพิจาณาจดเปลี่ยนเป็น IBC ภายในกำหนด เพื่อยังคงสิทธิเรื่องค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 15 ล้านบาทไว้ และ เนื่องจากระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นเพราะจะต้องยื่นความจำนงก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562 กิจการควรสำรวจว่าจะเข้าเงื่อนไขที่มีเพิ่มเติมเข้ามาสำหรับ IBC หรือไม่คือ เรื่องการมีพนักงานประจำไม่น้อยกว่า 10 คน เว้นแต่ว่าจะมีการให้บริการบริหารการเงินที่สามารถมีไม่น้อยกว่า 5 คน