posttoday

ธุรกิจการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

27 มิถุนายน 2562

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจการเกษตรของไทย หลายคนน่าจะนึกถึงการส่งออกผลไม้เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลำไย หรือมังคุด ซึ่งผลไม้เหล่านั้นก็น่าจะปลูกในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด หรืออาจเรียกรวมกันว่าเป็น “ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก” (Eastern Fruit Corridor: EFC)

อย่างไรก็ดี ทั้งทุเรียน ลำไย และมังคุด ต่างก็กลายเป็นสินค้าเกษตรที่การกระจุกตัวสูงมาก กล่าวคือ มีสัดส่วนรวมกันเกือบ 90% ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดทั้งหมด อีกทั้งยังกระจุกตัวอยู่เพียงตลาดจีนและตลาดเวียดนามเท่านั้น

ทั้งนี้ การขนส่งผลไม้เพื่อส่งออกไปยังเวียดนามและจีนนั้น จำเป็นต้องใช้วิธีการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก เนื่องจากเป็นการขนส่งที่ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าทางเรือมาก จึงส่งผลดีต่อความสดของผลไม้ และจะทำให้ผลไม้ขายได้ในราคาที่ดีกว่า โดยการขนส่งจากระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกนั้น จะต้องผ่านทางด่านศุลกากรนครพนม ไปตามเส้นทาง R12 ผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม และจีน

สำหรับระยะทางจากระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกไปยังด่านศุลกากรนครพนม มีระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไกลพอสมควร ดังนั้น นักธุรกิจการเกษตรในจังหวัดนครพนม จึงมองว่า หากจังหวัดนครพนมปลูกผลไม้เพื่อส่งออกเสียเอง ก็น่าจะประหยัดค่าขนส่งได้มากกว่า จึงพยายามเปลี่ยนแปลงเกษตรกรให้หันมาปลูกผลไม้เพื่อส่งออก แทนที่จะปลูกเพื่อยังชีพเหมือนเช่นเคย

การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนนั้น เกษตรกรที่ปลูกผลไม้เพื่อส่งออกต้องขึ้นทะเบียนและได้รับ “มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี”(GAP)และโรงคัดบรรจุต้องผ่าน“มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต”(GMP)ซึ่งในส่วนของการขอรับรองมาตราฐาน GAP ก็กลายเป็นข้อจำกัดของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครพนม เนื่องจากการขอ GAP นั้น เกษตรกรจะต้องมีเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เนื่องด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่สนับสนุนให้มีการทำการเกษตรบนที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ป่าที่ไม่มีหนังสืออนุญาตให้ทำกิน เช่น ป่าสงวน ป่าต้นน้ำ ป่าอุทยาน เขตคุ้มครองสัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตนเองจะหันมาปลูกผลไม้เพื่อส่งออกได้อย่างเต็มตัว

อันที่จริง เกษตรกรรายย่อยยังมีทางเลือกในการขอ GAPถึงแม้จะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ด้วยการขอ“เอกสารรับรอง”จากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น เช่น การรับรองจากจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้มีอำนาจในพื้นที่ตรวจสอบและลงนามในหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการรับรองมาตรฐาน โดยระบุในเอกสารว่า “เอกสารนี้ไม่สามารถใช้อ้างสิทธิในการครอบครองที่ดินได้” เป็นการอนุญาตให้ใช้เพื่อขอการรับรองมาตรฐานเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ หากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจการเกษตรของจังหวัดนครพนมสามารถปลูกผลไม้เพื่อส่งออกได้อย่างจริงจัง จึงควรให้ความสำคัญกับการออกเอกสารรับรองเพื่อขอ GAP ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยอาจจะอาศัยความเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษก็ได้

ที่สำคัญคือ จังหวัดนครพนมมีผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น สับปะรดและลิ้นจี่ จึงทำให้สามารถส่งออกในราคาที่สูงขึ้นได้ และยังสามารถช่วยลดปัญหาการกระจุกตัวของชนิดผลไม้ได้อีกทางหนึ่ง