posttoday

กฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการใหม่ (จบ)

29 พฤษภาคม 2562

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)   www.itd.or.th

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)   www.itd.or.th

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงกรอบนโยบายด้านความเป็นผู้ประกอบการของอังค์ถัด ใน 2 แนวทาง คือ การสำรวจข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และการลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งยังมีแนวทางที่น่าสนใจอีก 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบใหม่ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบให้มีความเหมาะสม

ทั้งนี้กฎระเบียบที่ถูกบัญญัติขึ้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส และมีกลไกในการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการใหม่ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เหมาะสมนั้น อาจพิจารณาได้จาก 2 มิติ

มิติแรก คือ มิติของภาครัฐ เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐนั้นมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องได้รับการฝึกอบรมให้ทราบถึงวิธีการบังคับใช้กฎระเบียบด้วยความโปร่งใส เป็นเอกภาพ และลดการใช้ดุลพินิจ

มิติที่สอง คือ มิติของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการใหม่ควรหาข้อมูลด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ โดยอาจจะขอข้อมูลจากสมาคมธุรกิจ หอการค้า หรือองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้านกฎระเบียบ ดังนั้น องค์กรเหล่านั้นควรอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงข้อมูลด้านกฎระเบียบให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อเป็นที่พึ่งให่แก่ผู้ประกอบการใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดให้มีกลไกระงับข้อพิพาททางเลือก (alternative dispute settlement mechanism) ที่มีกระบวนพิจารณาข้อพิพาทที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการบังคับคดีแบบคู่ขนานในระบบศาลยุติธรรม รวมทั้งควรแก้ไขกฎหมายล้มละลายให้เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบการใหม่ ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้

สำหรับแนวทางสุดท้าย คือ การให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการใหม่ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ นั้นยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบ ดังนั้น การให้คำแนะนำหรือฝึกอบรมผู้ประกอบการใหม่ให้ทราบถึงกฎระเบียบนั้นจึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หลายประเทศจึงริเริ่มการปรับวิธีการนำเสนอข้อมูลด้านกฎระเบียบให้มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย โดยอาศัยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การพัฒนาสื่อมัลติมีเดีย หรือคลิปวิดีโอสาธิต และเผยแพร่สื่อเหล่านั้นแก่ผู้ประกอบการใหม่

ที่สำคัญคือ ภาครัฐควรสร้างความเชื่อมโยงที่ชัดเจน ระหว่างข้อบังคับด้านกฎระเบียบที่ผู้ประกอบการใหม่จะต้องปฏิบัติตาม กับการให้บริการภาครัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐที่สนับสนุนภาคธุรกิจได้ง่ายขึ้น