posttoday

กฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการใหม่ (1)

24 พฤษภาคม 2562

โดย  สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

โดย  สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

ตามกรอบนโยบายด้านความเป็นผู้ประกอบการของอังค์ถัด (UNCTAD’s Entrepreneurship Policy Framework) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการจำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ (start-up)ที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่สูง แต่มีนวัตกรรมและรูปแบบในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่

กลุ่มผู้ประกอบใหม่จึงต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างสูง กฎระเบียบที่บังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหม่จึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น แต่ยังคงหลักการสำคัญ อาทิ มาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมให้ธุรกิจที่เกิดใหม่เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย โดยแนวทางการปรับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การสำรวจข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถทราบว่ากฎระเบียบหรือวิธีปฏิบัติใดก่อให้เกิดต้นทุนทางธุรกิจโดยไม่จำเป็น โดยผู้กำหนดนโยบายควรทราบว่ามาตรฐานการดำเนินธุรกิจของตนเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในลำดับที่เท่าไร

ทั้งนี้ อาจศึกษาจากมาตรฐานกลางที่กำหนดโดยหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น Doing Business Report ที่จัดทำโดยธนาคารโลก หรือ World Competitiveness Report ที่จัดทำโดย World Economic Forum เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจว่าเกิดจากฎระเบียบใด และสามารถกำหนดนโยบายใหม่ที่ลดทอนกระบวนการด้านกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นได้

แนวทางที่ 2 การลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งการขออนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศมีความยุ่งยากซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดต่อหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงาน ซึ่งมีการกำหนดเอกสารที่ผู้ประการต้องแสดงแตกต่างกัน

ความยุ่งยากซับซ้อนด้านกฎระเบียบผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่สูงหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนการดำเนินธุรกิจ ภาครัฐจึงไม่มีข้อมูลในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยอันนำไปสู่ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจึงเริ่มลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบของผู้ประกอบการ โดยการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one-stop service) ที่ผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยยื่นเอกสาร ณ จุดบริการเดียว หรือการให้บริการผ่านเว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการสามารถยืนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน อันเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินการของทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ